อันตรายจาก “แคดเมียม” สารตั้งต้นก่อมะเร็ง

“แคดเมียม” เป็นโลหะหนักที่พบได้ในสิ่งแวดล้อม แคดเมียมสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนแคดเมียม การสูดดมฝุ่นละอองที่มีแคดเมียม หรือการสัมผัสกับแคดเมียมทางผิวหนัง ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแคดเมียมให้มากที่สุด

แคดเมียม เป็นโลหะที่อันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมหลายๆ แหล่งที่ใช้โลหะชนิดนี้อยู่ หากใช้ในทางที่ถูกต้องก็สามารถสร้างผลผลิตให้กับอุตสาหกรรม แต่ถ้าไม่เก็บดูแลรักษาตามที่กฏหมายกำหนด ทำให้สารแพร่กระจายไปสู่สิ่งแวดล้อมโดยรอบ ก็จะก่อให้เกิดผลเสียอย่างหนักได้

ภาพที่ 1 : แคดเมียมคืออะไร

แคดเมียม (Cadmium: สูตรทางเคมี Cd) คือ โลหะหนักพบปะปนอยู่กับแร่ธาตุอื่นๆ เช่น แร่สังกะสี แร่ตะกั่ว หรือทองแดง ในการทำเหมืองสังกะสีจะได้แคดเมียมเป็นผลตามมา สามารถพบสารแคดเมียมปนเปื้อนได้ในอาหาร น้ำ นอกจากนี้ยังสามารถพบตามสีผสมที่ใช้กับอาคารและบ้าน การปนเปื้อนของโลหะหนักชนิดนี้ ยังเป็นสาเหตุของโรคอิไตอิไต ที่มีผลทำให้กระดูกสันหลังคดและมะเร็งด้วย

แคดเมียม ใช้ทำอะไร

1. นำมาใช้ในการชุบโลหะ ใช้แคดเมียมเคลือบบนแผ่นเหล็ก ทองแดง อะลูมิเนียม ชุบด้วยไฟฟ้า (Electroplating) โลหะที่ได้จากการชุบนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องบิน รถยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ วิทยุ
2. ใช้ผสมกับโลหะอื่น เป็นโลหะผสม (Alloy) เพิ่มความเหนียวและทนทานต่อการสึกกร่อน
3. ใช้ร่วมกับโลหะนิกเกิล (Nickel) ทำแบตเตอรี่ที่สามารถประจุไฟได้ใหม่ เช่น แบตเตอรี่เครื่องคิดเลข
4. ใช้เป็นเม็ดสีในอุตสาหกรรม
5. สารประกอบแคดเมียมใช้ทำสารกำจัดเชื้อรา สารกำจัดแมลง สารกำจัดหนอน
6. ใช้ในการผลิตหลอดฟลูออเรสเซ็นส์

แคดเมียม ก่อโรคกระทบสุขภาพ

หากแคดเมียมถูกความร้อนที่ 321 องศาเซลเซียส จะเกิดเป็นควันกระจายสู่สิ่งแวดล้อม เมื่อร่างกายสูดดมเข้าไป จะทำให้เกิดการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย มีปวดศีรษะ กล้ามเนื้อ ปวดท้อง ปอด ไต และตับ จะถูกทำลาย ถ้าหากหายใจควันเข้าไปในปอด จะมีอาการเจ็บคอ หายใจสั่น มีเสมหะเป็นเลือด น้ำหนักลด โลหิตจาง การหายใจจะลำบากมากขึ้นจนถึงขั้นระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด

ในอดีต ชาวญี่ปุ่นบริโภคอาหารทะเล ข้าว อาหาร ที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียมที่ถูกปล่อยจากโรงงานสารเคมีผ่านระบบระบายน้ำเสีย ทำให้มีผู้ได้รับสารปนเปื้อนจำนวนมาก เกิดอาการเจ็บป่วยอย่างทรมาณบริเวณแขน ขา สะโพก ฟัน อาการเหล่านี้สะสมนานถึง 20-30 ปี จนทำให้ร่างกายเดินไม่ไหว เกิดการกดทับของกระดูกสันหลัง เมื่อได้รับแคดเมียมสะสมมากๆ จะสังเกตเห็นวงสีเหลืองที่โคนของซี่ฟัน ซึ่งจะขยายขึ้นไปเรื่อยๆจนอาจเต็มซี่ ถ้าขนาดของวงยิ่งกว้างและสียิ่งเข้ม ก็แสดงว่ามีแคดเมียมสะสมมาก จนเรียกชื่อโรคนี้ว่า “โรคอิไต-อิไต (Itai-Itai disease)”

“แคดเมียมออกไซด์” เป็นสารก่อมะเร็งที่ไตและต่อมลูกหมาก นอกจากนั้นยังทำอันตรายต่อไตเกิดโรคไตอย่างรุนแรง ทำให้สูญเสียประสาทการดมกลิ่นและทำให้ เลือดจาง ถ้าได้รับปริมาณมากระยะสั้นๆ จะมีอาการจับไข้ หนาวๆ ร้อนๆ ปวดศีรษะ อาเจียน อาการนี้จะเป็นได้นานถึง 20 ชั่วโมงแล้วตามด้วยอาการเจ็บหน้า อก ไอรุนแรง น้ำลายฟูม ดังนั้น เมื่อใดมีไอของแคดเมียม เช่น จากการเชื่อมเหล็กชุบ ควรใช้หน้ากากป้องกันไอและฝุ่นของแคดเมียม หรือสารประกอบแคดเมียม ในขณะทำงาน

แคดเมียมปนเปื้อนในอากาศ และ อาหาร

มนุษย์จะได้รับแคดเมียมจากอาหาร อากาศ น้ำ และจากใบยาสูบ สําหรับผู้ไม่สูบบุหรี่ แหล่งที่มาที่มนุษย์รับสารแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายที่สําคัญ คือ จากการบริโภคอาหาร เนื่องจากส่วนประกอบของอาหาร เช่น พืช ผักจะสะสมแคดเมียมในปริมาณสูง ถ้าปลูกในดินที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียม หรือใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนแคดเมียม ทั้งนี้เพราะพืชสามารถดูดซึมแคดเมียมไว้ได้ดีกว่าโลหะอื่นๆ

นอกจากนั้นอาหารทะเลที่ได้จากแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อนของสารแคดเมียม เช่น ได้จากทะเลที่ใกล้แหล่งอุตสาหกรรม

ส่วนผู้ประกอบอาชีพในโรงงานอุตสาหกรรมจะได้รับแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายทางหายใจในรูปของฝุ่นหรือควัน ถ้ามีการปนเปื้อนของแคดเมียมที่มือหรือผู้สูบบุหรี่ในขณะทํางานอาจเข้าทางปากได้

แคดเมียมเข้าสู่ร่างกายคนได้ 2 ทาง

ภาพที่ 2 : แคดเมียม เข้าสู่ร่างกายได้ 2 ทาง

1. ทางปาก โดยการบริโภคอาหารทีมีการปนเปื้อนของแคดเมียม เช่น อาหารทะเล พืชผัก
2. ทางจมูก โดยการหายใจเอาควัน หรือ ฝุ่นของแคดเมียมเข้าไป เช่น ในเหมืองสังกะสี

แคดเมียมเข้าร่างกายจะเกิดอะไร

ภาพที่ 3 : เมื่อแคดเมียมเข้าสู่ร่างกาย

เมื่อรู้ว่ามีความเสี่ยงหรือมีสารโลหะหนักในร่างกายจำนวนมาก แนะนำให้ตรวจหาสารโลหะหนัก ซึ่งปัจจุบันก็มีการตรวจง่ายๆ โดยไม่ต้องเจาะเลือด เช่น การตรวจด้วยเครื่อง Oligoscan เป็นการตรวจวัดระดับแร่ธาตุและโลหะหนักระดับเนื้อเยื่อ

โดยส่วนมากอาการจะเป็นแบบไม่เฉพาะเจาะจง เช่น มีอาการอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น หรือนอนไม่หลับ บางครั้งมีความรู้สึกว่าสมองล้า ลืมง่าย หรือความคิดสร้างสรรค์เรื่องงานลดลง แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงอยู่แล้ว เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เบาหวาน เป็นต้น จะทำให้อาการแย่ลงหรือว่าการรักษาไม่สำเร็จผลอย่างที่ควรจะเป็น บางครั้งผู้ที่ได้รับสารพิษโลหะหนักอาจจะพบว่ามีอาการภูมิแพ้แบบไม่ทราบสาเหตุ หรือมักจะมีอาการเจ็บป่วยบ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุได้เช่นกัน

ลักษณะอาการหลังรับแคดเมียม

ภาพที่ 4 : อาการหลังรับแคดเมียม

1. เฉียบพลัน กรณีหายใจเอาไอหรือฝุ่นของฝุ่นของแคดเมียมที่มีอยู่ในอากาศเข้าไปเป็นจำนวนมาก อาการ คือ เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ไอ เจ็บหน้าอก เหงื่อออก สั่น กรณีเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทานจะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องร่วงคล้ายอาหารเป็นพิษ 

2. เรื้อรัง เกิดจากการได้รับแคดเมียมจากการหายใจ รับประทาน หรือดูดซึมผ่านทางผิวหนังเป็นประจำ เมื่อแคดเมียมเข้าสู่ระบบการไหลเวียนของโลหิตแล้วจะไปทำลายปอดทำให้ปอดบวม ทำลายตับและไต แคดเมียมส่วนหนึ่งจะไปเคลือบอยู่ตามเหงือกและคอฟัน อาการเรื้อรังของโรคแพ้พิษสารแคดเมียม มีอาการเจ็บหัวเข่า ปวดตามกระดูกทั่วร่างกาย ปัสสาวะสีขาวข้นเนื่องจากไตถูกทำลาย ปริมาณปัสสาวะและเลือดผู้ป่วยเปลี่ยนไป กระดูกเปราะเพราะถูกทำลาย

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

ภาพที่ 5 : การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

1.หากสูดดม : ให้รีบออกจากพื้นที่ รับอากาศบริสุทธิ์นำส่งแพทย์ทันที

2.หากสัมผัสกับผิวหนัง : ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนออกหมดทันที ล้างด้วยน้ำไหลผ่าน รีบพบแพทย์

3.หากเข้าตา : ล้างออกด้วยน้ำปริมาณมาก รีบพบจักษุแพทย์

4.หากกลืนกิน /ดื่ม : ให้รีบดื่มน้ำตามทันทีอย่างน้อย 2 แก้ว รีบพบแพทย์

5.งดเข้าพื้นที่เกิดเหตุ ติดตามสถานการณ์ สังเกตอาการตนเอง ผิดปกติรีบพบแพทย์ทันที

การรักษาเบื้องต้น หากร่างกายได้รับแคดเมียมจากการ บริโภคอาหาร ให้ปฏิบัติดังนี้ ดื่มนมหรือบริโภคไข่ที่ตีแล้ว เพื่อลดการระคายเคืองของทางเดิน อาหาร หรืออาจทําให้ถ่ายท้องด้วย Fleet’s Phosphosoda (เจือจาง 1:4 ด้วยนํ้า) 30-60 มิลลิกรัม เพื่อลดการดูดซึมแคดเมียม

แคดเมียม ป้องกันได้อย่างไร

ภาพที่ 6 : แคดเมียม ป้องกันได้อย่างไร

กลุ่มคนงานที่ต้องสัมผัสกับแคดเมียม สามารถป้องกันได้โดย

1.ใส่หน้ากาก เช่น หน้ากาก N95 ป้องกันไอระเหยจากสารเคมีโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันการหายใจเอาไอของแคดเมียมเข้าสู่ร่างกาย

2.ใส่ถุงมือตลอดเวลาในขณะปฎิบัติงาน

3.ล้างมือและทำความสะอาดร่างกายหลังการทำงานทุกครั้ง

4.ผู้ปฏิบัติงานต้องเฝ้าระวังและสังเกตอาการหากเกิดพิษที่เป็นผลจากแคดเมียม

วิธีเก็บรักษาแคดเมียม : ควรเก็บแคดเมียมในรูปแบบของสถานะของแข็งและอยู่ในบรรจุภัณฑ์อย่างมิดชิด จะสามารถลดความเสี่ยงการรับสัมผัสสารดังกล่าวได้

สารแคดเมียมจัดอยู่ในสารอันตรายที่ตรงตามกฎหมายกำหนด  หากมีการใช้งานเป็นประจำ อาจทำให้เกิดการสะสมเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดมะเร็งในร่างกายได้ ปัจจุบันมีการตั้งกฎหมายการใช้ ซึ่งเป็นการจำกัดปริมาณการใช้สารอันตราย เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อสุขภาพของผู้ที่ปฏิบัติงานร่วมกับสารและสิ่งแวดล้อม โดยสารชนิดนี้ต้องมีการจัดเก็บในพื้นที่ที่มิดชิด และไม่สามารถแพร่กระจายได้

ด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยและประสิทธิภาพสูงของ ระบบตรวจสอบสภาพการณ์ (ESS) จาก JorPor Plus ที่ตรวจสอบพื้นที่ต่างๆ รวมไปถึงการตรวจสอบให้อุปกรณ์ต่างๆ ลดความเสี่ยงจากสภาพการณ์ที่ไม่ปลอดภัย จึงนับเป็นก้าวสำคัญในการจัดการความปลอดภัย จะช่วยปกป้องสุขภาพของผู้คนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน หากมีการนำระบบนี้ไปใช้ สามารถทำให้สังคมปลอดภัย และองค์กรน่าอยู่ยิ่งขึ้น ทดลองใช้กดคลิกได้เลยค่ะ

Website: https://factorium.tech/jorporplus/
Facebook: https://www.facebook.com/JorPorPlus
Youtube: https://www.youtube.com/playlist?list=PL0b92T8M8rKX1jrpbfpBgozl6Dk3y-nu8