“การทำงานกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง” ในโรงงานอุตสาหกรรม นับว่าเป็นเรื่องที่นายจ้างควรให้ความสำคัญต่อลูกจ้างเป็นอย่างมาก เนื่องจากการทำงานจะมีความเสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงาน เช่น แสงสว่างในพื้นที่การทำงานไม่เพียงพออาจส่งกระทบต่อสายตาของลูกจ้าง และถ้าพื้นที่การทำงานมีเสียงดังเกินมาตรฐานกำหนด หรือพื้นที่การทำงานมีความร้อนสูง อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของลูกจ้าง หรือถึงขั้นสูญเสียการได้ยินได้ ดังนั้นจึงมีกฏหมายเพื่อรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของลูกจ้างและนายจ้าง ตามกฎกระทรวงกําหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดําเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2559
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 5 วรรค 1 และมาตรา 8 วรรค 1 แห่งพระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน พ.ศ. 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้
ภาพที่ 1 : ความหมาย การทำงานกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง
“อุณหภูมิเวตบัลบ์โกลบ” (Wet Bulb Globe Temperature – WBGT) หมายความว่า
(1) อุณหภูมิที่วัดเป็นองศาเซลเซียสซึ่งวัดนอกอาคารที่ไม่มีแสงแดดหรือในอาคารมีระดับ ความร้อนเท่ากับ 0.7 เท่าของอุณหภูมิที่อ่านค่าจากเทอร์โมมิเตอร์กระเปาะเปียกตามธรรมชาติ (natural wet bulb thermometer) บวก 0.3 เท่าของอุณหภูมิที่อ่านค่าจากโกลบเทอร์โมมิเตอร์ (globe thermometer) หรือ
(2) อุณหภูมิที่วัดเป็นองศาเซลเซียสซึ่งวัดนอกอาคารที่มีแสงแดด มีระดับความร้อนเท่ากับ 0.7 เท่าของอุณหภูมิที่อ่านค่าจากเทอร์โมมิเตอร์กระเปาะเปียกตามธรรมชาติ บวก 0.2 เท่าของอุณหภูมิ ที่อ่านค่าจากโกลบเทอร์โมมิเตอร์ และบวก 0.1 เท่าของอุณหภูมิที่อ่านค่าจากเทอร์โมมิเตอร์กระเปาะแห้ง (dry bulb thermometer)
“ระดับความร้อน” หมายความว่า อุณหภูมิเวตบัลบ์โกลบในบริเวณที่ลูกจ้างทํางานตรวจวัด โดยค่าเฉลี่ยในช่วงเวลาสองชั่วโมงที่มีอุณหภูมิเวตบัลบ์โกลบสูงสุดของการทํางานปกติ
“สภาวะการทํางาน” หมายความว่า สภาวะแวดล้อมซึ่งปรากฏอยู่ในบริเวณที่ทํางานของลูกจ้าง ซึ่งรวมถึงสภาพต่าง ๆ ในบริเวณที่ทํางาน เครื่องจักร อาคาร สถานที่ การระบายอากาศ ความร้อน แสงสว่าง เสียง ตลอดจนสภาพและลักษณะการทํางานของลูกจ้างด้วย
ความหนักเบาของงาน
ภาพที่ 2 : ความหนักเบาของงาน
“งานเบา” หมายความว่า ลักษณะงานที่ใช้แรงน้อยหรือใช้กําลังงานที่ทําให้เกิดการเผาผลาญอาหาร ในร่างกายไม่เกิน 200 กิโลแคลอรีต่อชั่วโมง เช่น งานเขียนหนังสือ งานพิมพ์ดีด งานบันทึกข้อมูล งานเย็บจักร งานนั่งตรวจสอบผลิตภัณฑ์ งานประกอบชิ้นงานขนาดเล็ก งานบังคับเครื่องจักรด้วยเท้า การยืนคุมงาน
“งานปานกลาง” หมายความว่า ลักษณะงานที่ใช้แรงปานกลางหรือใช้กําลังงานที่ทําให้เกิด การเผาผลาญอาหารในร่างกายเกิน 200 กิโลแคลอรีต่อชั่วโมง ถึง 350 กิโลแคลอรีต่อชั่วโมง เช่น งานยก ลาก ดัน หรือเคลื่อนยายสิ่งของด้วยแรงปานกลาง งานตอกตะปู งานตะไบ งานขับรถบรรทุก งานขับรถแทรกเตอร์
“งานหนัก” หมายความว่า ลักษณะงานที่ใช้แรงมากหรือใช้กําลังงานที่ทําให้เกิดการเผาผลาญอาหาร ในร่างกายเกิน 350 กิโลแคลอรีต่อชั่วโมง เช่น งานที่ใช้พลั่วตักหรือเครื่องมือลักษณะคล้ายกัน งานขุด งานเลื่อยไม้ งานเจาะไม้เนื้อแข็ง งานทุบโดยใช้ค้อนขนาดใหญ่ งานยก หรือเคลื่อนย้ายของหนัก ขึ้นที่สูงหรือที่ลาดชัน
หมวดที่ 1
ความร้อน
ภาพที่ 3 : นายจ้างควบคุมดูแลความร้อนในสถานประกอบการ มิให้เกินมาตรฐาน
ข้อ 2 ให้นายจ้างควบคุมและรักษาระดับความร้อนภายในสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้าง ทํางานอยู่มิให้เกินมาตรฐาน ดังต่อไปนี้
(1) งานที่ลูกจ้างทําในลักษณะงานเบาต้องมีมาตรฐานระดับความร้อนไม่เกินค่าเฉลี่ยอุณหภูมิ เวตบัลบ์โกลบ 34 องศาเซลเซียส
(2) งานที่ลูกจ้างทําในลักษณะงานปานกลางต้องมีมาตรฐานระดับความร้อนไม่เกินค่าเฉลี่ย อุณหภูมิเวตบัลบ์โกลบ 32 องศาเซลเซียส
(3) งานที่ลูกจ้างทําในลักษณะงานหนักต้องมีมาตรฐานระดับความร้อนไม่เกินค่าเฉลี่ย อุณหภูมิเวตบัลบ์โกลบ 30 องศาเซลเซียส
ภาพที่ 4 : สถานประกอบการมีแหล่งความร้อนที่เป็นอันตราย ให้ติดป้ายเตือน
ข้อ 3 ในกรณีที่ภายในสถานประกอบกิจการมีแหล่งความร้อนที่อาจเป็นอันตราย ให้นายจ้างติดป้ายหรือประกาศเตือนอันตรายในบริเวณดังกล่าว โดยให้ลูกจ้างสามารถมองเห็นได้ชัดเจน
ในกรณีที่บริเวณการทํางานตามวรรคหนึ่งมีระดับความร้อนเกินมาตรฐานที่กําหนดในข้อ 2 ให้นายจ้างดําเนินการปรับปรุงหรือแก้ไขสภาวะการทํางานทางด้านวิศวกรรม เพื่อควบคุมระดับความร้อน ให้เป็นไปตามมาตรฐาน และจัดให้มีการปิดประกาศและเอกสารหรือหลักฐานในการดําเนินการปรับปรุง หรือแก้ไขดังกล่าวไว้ เพื่อให้พนักงานตรวจความปลอดภัยสามารถตรวจสอบได้
ในกรณีที่ไม่สามารถดําเนินการให้เป็นไปตามวรรค 2 ได้ ให้นายจ้างจัดให้มีมาตรการควบคุม หรือลดภาระงาน และต้องจัดให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามที่กําหนดไว้ ในหมวด 4 ตลอดเวลาที่ทํางาน
หมวด 2
แสงสว่าง
ภาพที่ 5 : นายจ้างจัดให้มีความเข้มของแสงสว่างไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน
ข้อ 4 นายจ้างต้องจัดให้สถานประกอบกิจการมีความเข้มของแสงสว่างไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน ที่อธิบดีประกาศกําหนด
ข้อ 5 นายจ้างต้องใช้หรือจัดให้มีฉาก แผ่นฟิล์มกรองแสง หรือมาตรการอื่นที่เหมาะสม และเพียงพอเพื่อป้องกันมิให้แสงตรงหรือแสงสะท้อนจากแหล่งกําเนิดแสงหรือดวงอาทิตย์ที่มีแสงจ้า ส่องเข้านัยน์ตาลูกจ้างโดยตรงในขณะทํางาน ในกรณีที่ไม่อาจป้องกันได้ ต้องจัดให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์ คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามที่กําหนดไว้ในหมวด 4 ตลอดเวลาที่ทํางาน
ภาพที่ 6 : กรณีลูกจ้างทำงานในที่มืด คับแคบ จัดให้มีอุปกรณ์ส่องแสงสว่าง
ข้อ 6 ในกรณีที่ลูกจ้างต้องทํางานในสถานที่มืด ทึบ และคับแคบ เช่น ในถ้ำ อุโมงค์ หรือในที่ที่มีลักษณะเช่นนั้น นายจ้างต้องจัดให้มีอุปกรณ์ส่องแสงสว่างที่เหมาะสมแก่สภาพและลักษณะงาน โดยอาจเป็นชนิดที่ติดอยู่ในพื้นที่ทํางานหรือติดที่ตัวบุคคลได้ หากไม่สามารถจัดหา หรือดําเนินการได้ ต้องจัดให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามที่กําหนดไว้ใน หมวด 4 ตลอดเวลาที่ทํางาน
หมวดที่ 3
เสียง
ข้อ 7 นายจ้างต้องควบคุมระดับเสียงมิให้ลูกจ้างได้รับสัมผัสเสียงในบริเวณสถานประกอบกิจการ ที่มีระดับเสียงสูงสุด (peak sound pressure level) ของเสียงกระทบหรือเสียงกระแทก (impact or impulse noise) เกิน 140 เดซิเบล หรือได้รับสัมผัสเสียงที่มีระดับเสียงดังต่อเนื่องแบบคงที่ (continuous steady noise) เกินกว่า 115 เดซิเบลเอ
ข้อ 8 นายจ้างต้องควบคุมระดับเสียงที่ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดเวลาการทํางานในแต่ละวัน (Time Weighted Average-TWA) มิให้เกินมาตรฐานตามที่อธิบดีประกาศกําหนด
ข้อ 9 ภายในสถานประกอบกิจการที่สภาวะการทํางานมีระดับเสียงเกินมาตรฐาน ที่กําหนดในข้อ 7 หรือมีระดับเสียงที่ลูกจ้างได้รับเกินมาตรฐานที่กําหนดในข้อ 8 นายจ้างต้องให้ลูกจ้าง หยุดทํางานจนกว่าจะได้ปรับปรุงหรือแก้ไขให้ระดับเสียงเป็นไปตามมาตรฐานที่กําหนด และให้นายจ้างดําเนินการปรับปรุงหรือแก้ไขทางด้านวิศวกรรม โดยการควบคุมที่ต้นกําเนิดของเสียงหรือทางผ่านของเสียง หรือบริหารจัดการเพื่อควบคุมระดับเสียงที่ลูกจ้างจะได้รับให้ไม่เกินมาตรฐานที่กําหนด และจัดให้มีการปิดประกาศและเอกสารหรือหลักฐานในการดําเนินการปรับปรุงหรือแก้ไขดังกล่าวไว้ เพื่อให้พนักงาน ตรวจความปลอดภัยสามารถตรวจสอบได้
ในกรณีที่ไม่สามารถดําเนินการตามวรรค 1 ได้ นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์ คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามที่กําหนดไว้ในหมวด 4 ตลอดเวลาที่ทํางาน เพื่อลดระดับเสียง ที่สัมผัสในหูเมื่อสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลแล้ว โดยให้อยู่ในระดับที่ไม่เกิน มาตรฐานตามที่กําหนดไว้ในข้อ 7 และข้อ 8
การคํานวณระดับเสียงที่สัมผัสในหูเมื่อสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ตามวรรค 2 ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกําหนด
ภาพที่ 7 : บริเวณที่มีเสียงดังเกินมาตรฐาน นายจ้างต้องจัดให้มีป้ายเตือน
ข้อ 10ในบริเวณที่มีระดับเสียงเกินมาตรฐานที่กําหนดในข้อ 7 หรือข้อ 8 นายจ้างต้อง จัดให้มีเครื่องหมายเตือนให้ใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลติดไว้ให้ลูกจ้างเห็นได้โดยชัดเจน
ภาพที่ 8 : กรณีที่ลูกจ้างทำงานที่มีระดับเสียงเกินมาตรฐาน ให้นายจ้างจัดให้มีมาตรการอนุรักษ์การได้ยิน
ข้อ 11 ในกรณีที่สภาวะการทํางานในสถานประกอบกิจการมีระดับเสียงที่ลูกจ้างได้รับเฉลี่ย ตลอดระยะเวลาการทํางานแปดชั่วโมงตั้งแต่ 85 เดซิเบลเอขึ้นไป ให้นายจ้างจัดให้มีมาตรการอนุรักษ์ การได้ยินในสถานประกอบกิจการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกําหนด
หมวดที่ 4
อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
ภาพที่ 9 : อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
ข้อ 12 นายจ้างต้องจัดให้มีและดูแลให้ลูกจ้างใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ตามความเหมาะสมกับลักษณะงานตลอดเวลาที่ทํางาน ดังต่อไปนี้
(1) งานที่มีระดับความร้อนเกินมาตรฐานที่กําหนด ให้สวมใส่ชุดแต่งกาย รองเท้า และถุงมือ สําหรับป้องกันความร้อน
(2) งานที่มีแสงตรงหรือแสงสะท้อนจากแหล่งกําเนิดแสงหรือดวงอาทิตย์ที่มีแสงจ้า ส่องเข้านัยน์ตาโดยตรง ให้สวมใส่แว่นตาลดแสงหรือกระบังหน้าลดแสง
(3) งานที่ทําในสถานที่มืด ทึบ และคับแคบ ให้สวมใส่หมวกนิรภัยที่มีอุปกรณ์ส่องแสงสว่าง
(4) งานที่มีระดับเสียงเกินมาตรฐานที่กําหนด ให้สวมใส่ปลั๊กลดเสียงหรือที่ครอบหูลดเสียง
ข้อ 13 ให้นายจ้างบํารุงรักษาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลให้อยู่ในสภาพ ที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งจัดให้ลูกจ้างได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับวิธีการใช้และบํารุงรักษา อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล และเก็บหลักฐานการฝึกอบรมไว้ ณ สถานประกอบกิจการ เพื่อให้พนักงานตรวจความปลอดภัยสามารถตรวจสอบได้
หมวดที่ 5
การตรวจวัดและวิเคราะห์สภาวะการทํางาน และการรายงานผล
ข้อ 14 นายจ้างต้องจัดให้มีการตรวจวัดและวิเคราะห์สภาวะ การทํางานกับความร้อน แสงสว่าง หรือเสียงภายในสถานประกอบกิจการ
หลักเกณฑ์ วิธีการตรวจวัด และการวิเคราะห์สภาวะการทํางานเกี่ยวกับระดับความร้อน แสงสว่าง หรือเสียง รวมทั้งระยะเวลาและประเภทกิจการที่ต้องดําเนินการให้เป็นไปตามที่อธิบดี ประกาศกําหนด
ในกรณีที่นายจ้างไม่สามารถตรวจวัดและวิเคราะห์สภาวะการทํางานตามวรรคหนึ่งได้ ต้องให้ ผู้ที่ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 9 หรือนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน พ.ศ. 2554 เพื่อเป็นผู้ให้บริการ ในการตรวจวัดและวิเคราะห์สภาวะการทํางานเกี่ยวกับระดับความร้อน แสงสว่าง หรือเสียงภายใน สถานประกอบกิจการ แล้วแต่กรณี เป็นผู้ดําเนินการแทน
ให้นายจ้างเก็บผลการตรวจวัดและวิเคราะห์สภาวะการทํางานดังกล่าวไว้ ณ สถานประกอบกิจการ เพื่อให้พนักงานตรวจความปลอดภัยสามารถตรวจสอบได้
ภาพที่ 10 : นายจ้างจัดทํารายงานผลการตรวจวัดและวิเคราะห์สภาวะ การทํางานกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง
ข้อ 15 ให้นายจ้างจัดทํารายงานผลการตรวจวัดและวิเคราะห์สภาวะการทํางานตามแบบ ที่อธิบดีประกาศกําหนด พร้อมทั้งส่งรายงานผลดังกล่าวต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เสร็จสิ้นการตรวจวัด และเก็บรายงานผลการตรวจวัดและวิเคราะห์สภาวะการทํางานดังกล่าวไว้ ณ สถานประกอบกิจการ เพื่อให้พนักงานตรวจความปลอดภัยสามารถตรวจสอบได้
หมวดที่ 6
การตรวจสุขภาพและการรายงานผล
ภาพที่ 11 : การตรวจสุขภาพและการรายงานผล
ข้อ 16 ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพลูกจ้างที่ทํางานในสภาวะการทํางานที่อาจได้รับ อันตรายจากความร้อน แสงสว่าง หรือเสียง และรายงานผล รวมทั้งดําเนินการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสุขภาพ ของลูกจ้างตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน พ.ศ. 2554
บทเฉพาะกาล
ข้อ 17 ให้ผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นผู้รับรองรายงานการตรวจวัดและวิเคราะห์สภาวะการทํางาน กับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตามกฎกระทรวงกําหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2549 มีสิทธิดําเนินการตรวจวัดและวิเคราะห์สภาวะการทํางานเกี่ยวกับระดับความร้อน แสงสว่าง หรือเสียงภายในสถานประกอบกิจการตามข้อ 14 ต่อไปจนกว่าการขึ้นทะเบียนจะสิ้นอายุ
ในกรณีที่ไม่มีผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนตามวรรค 1 และยังไม่มีการออกกฎกระทรวงกําหนดรายละเอียด ของบุคคลที่จะขอขึ้นทะเบียนหรือนิติบุคคลที่จะขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 9 หรือมาตรา 11 แห่ง พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน พ.ศ. 2554 เพื่อเป็นผู้ให้บริการในการตรวจวัดและวิเคราะห์สภาวะการทํางานเกี่ยวกับระดับความร้อน แสงสว่าง หรือเสียงภายในสถานประกอบกิจการ แล้วแต่กรณี ให้ผู้ซึ่งสําเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี สาขาอาชีวอนามัย หรือเทียบเท่า ที่เคยขึ้นทะเบียนตามกฎกระทรวงกําหนดมาตรฐานในการบริหารและ การจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2549 หรือให้ผู้ซึ่งสําเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี สาขาอาชีวอนามัย หรือเทียบเท่า และมีประสบการณ์เป็นผู้รับรองรายงานการตรวจวัดและวิเคราะห์สภาวะการทํางาน ไม่น้อยกว่า 3 ปี สามารถดําเนินการตรวจวัดแทนผู้ทําการตรวจวัดตามกฎกระทรวงนี้ไปพลางก่อนได้
ข้อ 18 กรณีที่นายจ้างทําการตรวจวัดและวิเคราะห์สภาวะการทํางานเกี่ยวกับระดับความร้อน แสงสว่าง หรือเสียงภายในสถานประกอบกิจการตามกฎกระทรวงกําหนดมาตรฐานในการบริหารและ การจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2549 ก่อนที่กฎกระทรวงนี้จะมีผลใช้บังคับ และมีระยะเวลายังไม่ครบ 1 ปีนับแต่วันที่ทําการตรวจวัด ให้ถือว่านายจ้างได้ดําเนินการตรวจวัดตามกฎกระทรวงนี้แล้ว จนกว่าจะครบระยะเวลา 1 ปี
ดังนั้นพื้นที่การทำงาน ตลอดถึงอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล นายจ้างจะต้องดำเนินการจัดเตรียมและให้ลูกจ้างปฏิบัติงานตามมาตรฐานความปลอดภัย โดยจะต้องมีการตรวจสอบความร้อน แสงสว่าง และเสียง ทุกพื้นที่ที่ลูกจ้างปฏิบัติงานให้ถูกต้องตามกฏหมายและมาตรฐาน และจะต้องเตรียมอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลให้ลูกจ้างทุกครั้งก่อนปฏิบัติงาน
เพราะสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นนายจ้างจะต้องตรวจสอบและให้ความสำคัญต่อพื้นที่ปฏิบัติงานของลูกจ้างเป็นอันดับ 1 และจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงก่อนปฏิบัติงาน โดยมีวิธีที่สามารถทำได้อย่างละเอียดและรวดเร็ว อย่างระบบจัดการใบอนุญาตเข้าทำงาน (EWS) จาก JorPor Plus ที่จะช่วยประเมินความเสี่ยงก่อนปฏิบัติงานทุกครั้ง เพื่อลดการเกิดความเสี่ยงที่เกิดจากการทำงาน มีทดลองใช้กดคลิก
Website: https://factorium.tech/jorporplus/
Facebook: https://www.facebook.com/JorPorPlus
Youtube: https://www.youtube.com/playlist?list=PL0b92T8M8rKX1jrpbfpBgozl6Dk3y-nu8