เทคนิคการจัดทำ JSA ในการทำงาน

JSA คือ การชี้บ่งอันตรายด้วยวิธี Job Safety Analysis หรือบางครั้งเรียกว่า Job Hazard Analysis (JHA) เป็นวิธีหนึ่งในการชี้บ่งอันตรายในกระบวนการจัดการความเสี่ยง โดยเป็นการค้นหาอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนของงานหรือขั้นตอนของกิจกรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและสุขอนามัยของผู้ปฏิบัติงาน จึงต้องกำหนดมาตรการในการควบคุมป้องกันอันตรายอันนำไปสู่การจัดทำแผนจัดการความเสี่ยงต่อไป นอกจากนั้นการชี้บ่งอันตรายด้วยวิธี JSA ยังเป็นวิธีการที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพในการนำไปจัดทำข้อบังคับว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงานตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549

เมื่อเราทำ JSA แล้ว เราจะได้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในการทำงานต่างๆ ซึ่งทำให้เราสามารถวางแผนการป้องกันและควบคุมความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างปลอดภัยมากที่สุด นอกจากนี้ยังช่วยให้เราเข้าใจถึงกระบวนการทำงานในระดับที่ละเอียดมากขึ้น และสามารถวางแผนการทำงานให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ภาพที่ 1 : JSAคืออะไร

วัตถุประสงค์ของการจัดทำJSA

  1. สามารถนำผลการวิเคราะห์ไปกำหนดเป็นมาตรฐานความปลอดภัย และนำไปสู่แผนป้องกัน รวมถึงใช้ในการวางแผนงานด้านความปลอดภัย
  2. เพื่อช่วยให้ขั้นตอนในการทำงานปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้น
  3. เพื่อสร้างทัศนคติความปลอดภัยให้แก่พนักงาน
  4. เพื่อลดอุบัติเหตุจากการทำงาน

ประโยชน์ของการทำJSA

  1. เพื่อชี้บ่งอันตรายที่มีอยู่ และอันตรายที่จะเกิดขึ้น
  2. เพื่อสร้างจิตสำนึกให้พนักงานตระหนักถึงความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา
  3. เพื่อนำผลการวิเคราะห์ไปใช้ในการจัดทำแผนจัดการความเสี่ยงในสถานประกอบการ
  4. เพื่อนำผลของการวิเคราะห์งาน ไปจัดทำเป็นข้อบังคับที่ว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงาน และสามารถใช้อบรมพนักงานใหม่ และพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ในปัจจุบัน

4 ขั้นตอนพื้นฐานในการจัดทำ JSA

ภาพที่ 2 : ขั้นตอนการจัดทำJSA

ขั้นตอนที่ 1 การเลือกงานที่ทำการวิเคราะห์อาศัยหลักเกณฑ์ต่อไปนี้เป็นเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจ

  • เป็นงานที่มีความถี่หรือความรุนแรงในการเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างสูงหรือมีแนวโน้มไม่ลดลง
  • เป็นงานที่มีโอกาสที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ โดยการเดินสำรวจเบื้องต้น ดูจากหน้างานจริง
  • เป็นงานใหม่ หรือเป็นงานที่มีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง เพิ่มเติม ในส่วนของวิธีการ กิจกรรม ขั้นตอน หรือเครื่องจักร / อุปกรณ์
  • เป็นงานที่มีผู้ปฏิบัติงานจำนวนมาก

ขั้นตอนที่ 2 การจัดลำดับวิธีการทำงานเป็นขั้นตอนที่เหมาะสม เช่น เขียนขั้นตอนตามลำดับของงาน

ขั้นตอนที่ 3 การค้นหาอันตรายที่จะเกิดขึ้น ในแต่ละขั้นตอน เช่น

  • การตกจากที่สูง
  • สัมผัสหรือสูดดมสารเคมี
  • สัมผัสความร้อน
  • เสียงจากการทำงานดังเกินมาตรฐานกำหนด
  • วัตถุหรือสิ่งของหนีบหรือดึง
  • เศษวัสดุกระเด็นเข้าตา
  • อุบัติเหตุจากเครื่องจักรหรือยานพาหนะ
  • ฝุ่นหรือควันเข้าสู่ร่างกาย
  • วัตถุหรือสิ่งของตัด บาด ทิ่ม แทง
  • ยกหรือเคลื่อนย้ายของหนัก
  • อาการเจ็บป่วยจากท่าทางการทำงาน
  • ผลจากการสัมผัสความร้อนสูง
  • ผลจากการสัมผัสความเย็นจัด
  • อันตรายจากรังสี แสง และอื่นๆ

ขั้นตอนที่ 4 การกำหนดวิธีการทำงานที่ถูกต้องปลอดภัย และสามารถป้องกันอันตรายที่พบได้

วิเคราะห์หาอันตรายโดยพิจารณาจาก PEME

ภาพที่ 3 : วิเคราะห์หาอันตรายโดยพิจารณาจาก PEME

วิเคราะห์หาอันตรายโดยพิจารณาจาก PEME ได้แก่

  • P People
  • E Equipment
  • M Material
  • E Environment

คน (People)  
– สิ่งที่สัมผัสแล้วก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน หรือโรคจากการทำงาน
อุปกรณ์ (Equipment)
– อุปกรณ์หรือเครื่องจักรใดที่เกิดการเสื่อมสภาพ และไม่ได้รับการแก้ไข
– อุบัติเหตุใดบ้างเกิดขึ้นบ่อย ที่เกิดจากอุปกรณ์ หรือเครื่องจักร
วัสดุ (Material)
– ปัญหาใดบ้างที่เกิดขึ้นจากการยกของ ขนย้าย หรือลำเลียงวัสดุ
สิ่งแวดล้อม (Environment)
– ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมใดบ้าง ที่จะทำให้เกิดความสูญเสียในด้านความปลอดภัย คุณภาพงานการผลิต รวมถึงผลกระทบร้ายแรงอื่นๆ

แบบการชี้บ่งอันตรายด้วยวิธี JSA

หลักการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัยอาศัยหลัก 3 ประการ คือ 

1. ตระหนักถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากการทำงาน 
2. ประเมินผลของอันตรายนั้น 
3. หามาตรการป้องกันหรือควบคุมอันตรายนั้น

ภาพที่ 4 : ตัวอย่างแบบฟอร์มการชี้บ่งอันตรายด้วยวิธีJSA

กรณีที่สถานประกอบการได้มีการวิเคราะห์ขั้นตอนการทำงานไว้อยู่แล้ว ก็สามารถนำการวิเคราะห์นั้นมาทบทวนดู ว่าในปัจจุบันการปฏิบัติงานในขั้นตอนนั้น ยังคงเหมือนเดิมหรือเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการทำงานแต่ JSA ของสถานประกอบการไม่ถูกเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ก็จะทำให้งานที่เราวิเคราะห์ไม่ตรงตามความเป็นจริง และส่งผลให้มาตรการป้องกันและควบคุมอันตรายนั้น ไม่มีประสิทธิภาพตามไปด้วย และที่สำคัญต้องทำให้ครบทุกงานเพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน

ใครบ้างที่ต้องทำ JSA

ภาพที่ 5 : ใครบ้างที่ต้องทำJSA

การวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย จะต้องพิจารณาเป็นขั้นตอนงาน เพื่อให้รู้ถึงอันตรายเพื่อหามาตรการป้องกันและควบคุมให้ถูกต้องเหมาะสม ขั้นตอนการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย ต้องทำโดยให้ผู้เกี่ยวข้องทุกส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นผู้ปฏิบัติงาน หัวหน้างาน และ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน โดยอย่างน้อยจะต้องมี 3 ส่วนนี้ เพื่อให้การวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย ออกมาอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ปลอดภัย และสามารถปฏิบัติได้จริง ซึ่งบทบาทหน้าที่ของผู้มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย 3 ส่วน มีรายละเอียดดังนี้

  1. ผู้ปฏิบัติงาน
    เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานนั้น เป็นผู้ที่ทำงานจริง รู้ถึงจุดเสี่ยงหรือสิ่งที่ก่อเกิดให้เกิดอุบัติเหตุ ผู้ปฏิบัติงานจึงจำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย หากผู้ปฏิบัติงานได้เข้ามากำหนดวิธีการทำงาน รวมถึงร่วมคิดหามาตรการป้องกัน จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงานได้ยิ่งขึ้น
  2. หัวหน้างาน
    หัวหน้างานเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน และมีความรู้ในหน้างานของตนเอง สามารถเห็นได้ว่าขั้นตอนการทำงานไหนมีความเสี่ยงอะไรบ้าง หัวหน้างานจึงจะต้องมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย หลังจากการวิเคราะห์แล้ว จะต้องนำไปจัดทำเป็นมาตรฐานวิธีการปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย และหัวหน้างานต้องควบคุมให้ผู้ปฏิบัติงานทำตามที่กำหนดไว้
  3. เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป)
    เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน หรือ จป. ต้องเป็นผู้กำหนดมาตรการป้องกันอันตราย ที่ถูกวิเคราะห์มาจากขั้นตอนการทำงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับตัวผู้ปฏิบัติงาน  และจะต้องร่วมกันวิเคราะห์ กับผู้ปฏิบัติงาน หัวหน้างาน ว่าสิ่งที่เรากำหนดขึ้นมาสามารถทำได้จริงหรือไม่ หากพบปัญหาจะได้ช่วยกันแก้ไข ปรับปรุง ให้สามารถนำไปใช้ได้จริงและมีประสิทธิภาพ

การทำงานในอุตสาหกรรมทุกวันนี้เริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น และการปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงต้องพิจารณาความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด ซึ่งจากการทำงานเชิงปฏิบัติการ มีความสำคัญที่จะต้องทำให้ครบถ้วนทุกขั้นตอนและเห็นถึงความสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้แก่องค์กร

ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทาง JorPor Plus เองจึงนำหัวข้อต่างๆ ของJSAมาประยุกต์ใช้ในแอปพลิเคชันไว้ในที่เดียว จึงเป็นสิ่งที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เรามีระบบจัดการใบอนุญาตเข้าทำงาน (EWS) มีในส่วนของการทำJSAซึ่งครอบคลุมตามหัวข้อที่ครบถ้วน เรียกได้ว่าพร้อมใช้งาน สะดวกสำหรับพี่ๆจป.เลยทีเดียว


การใช้เทคโนโลยีในการช่วยทำให้งานของพี่ๆดำเนินไปอย่างราบรื่นโดยเฉพาะ JSA ไม่เพียงแต่ทำให้กระบวนการนั้นรวดเร็วและสะดวกมากขึ้น แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงในการทำงานได้และลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีที่มี JSA ด้วย เป็นสิ่งที่ JorPor Plus ให้ความสำคัญ ทั้งในเรื่องของความปลอดภัยและความสะดวกสบายในการทำงาน เพื่อให้ทีมงานทำงานอย่างปลอดภัยและมั่นใจในการปฏิบัติงานตามระเบียบอย่างแท้จริง ตอนนี้ทาง JorPor Plus มีให้ทดลองใช้งานกดคลิกได้ที่ปุ่มด้านล่างนี้เลยค่ะ

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก : https://www.jorportoday.com/jsa/
Website: https://factorium.tech/jorporplus/
Facebook: https://www.facebook.com/JorPorPlus
Youtube: https://www.youtube.com/playlist?list=PL0b92T8M8rKX1jrpbfpBgozl6Dk3y-nu8