ISO 45001 มาตรฐานความปลอดภัยที่องค์กรต้องทำ

ISO 45001 เป็นมาตรฐานที่มีโครงสร้างการจัดการความปลอดภัยและสุขภาพทางอาชีพที่ทันสมัยและเป็นระบบ เช่นเดียวกับมาตรฐานการจัดการอื่น ๆ อาทิ ISO 9001 (ระบบการจัดการคุณภาพ) และ ISO 14001 (ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม) มาตรฐานนี้ให้เสถียรภาพในการจัดการความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน และช่วยในการลดความเสี่ยงต่อความปลอดภัยและสุขภาพในที่ทำงาน มีข้อกำหนดสำคัญอย่างหนึ่งคือการให้ผู้บริหารรับผิดชอบในการสร้างระบบการจัดการที่มุ่งเน้นความปลอดภัยและสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการมีการเก็บรักษาและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประเมินความเสี่ยงและป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในสถานที่ทำงาน

ภาพที่ 1 : ISO45001 คืออะไร

ทำไมถึงควรนำ ISO 45001 มาปรับใช้ในการทำงาน

ภาพที่ 2 : ทำไมถึงต้องทำ ISO45001

1. หากคุณใช้มาตรฐาน ISO45001 ปรับใช้ในการทำงาน องค์กรของคุณจะสามารถระบุและควบคุมความเสี่ยงเกี่ยวกับอาชีวอนามัยและความปลอดภัยภายในสถานที่ทำงานได้ ซึ่งจะช่วยให้ลดจำนวนผู้ที่บาดเจ็บ และลดโอกาสการเกิดอาการเจ็บป่วยของบุคลากรได้

2. องค์กรที่แสดงความใส่ใจ และมองเห็นถึงความสำคัญของอาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมไปถึงปฏิบัติตามระบบระเบียบที่สอดคล้องกับ ISO45001 จะมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นจากนักลงทุน ลูกค้า รวมไปถึงบุคลากรภายในองค์กร

3. ISO45001 นั้นมีข้อกำหนดหลาย ๆ ข้อที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทั้งในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ การนำมาตรฐาน ISO45001 ไปใช้และบังคับภายในองค์กร ก็จะสามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่มีปัญหาด้านกฎหมายตามมาภายหลัง

4. องค์กรที่มีระบบการจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่รัดกุม จะมีแนวโน้มที่พนักงานลางานเนื่องจากอุบัติเหตุหรืออาการเจ็บป่วยจากที่ทำงานน้อยลง ซึ่งจะนำไปสู่ประสิทธิภาพในการทำงานที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

5. พนักงานที่รู้สึกปลอดภัยในการทำงาน จะมีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมและมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้นไปด้วย การนำมาตรฐาน ISO45001 มาใช้ในสถานที่ทำงานก็จะช่วยสร้างวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยในเชิงบวกให้แก่องค์กร นำไปสู่การเพิ่มขวัญและกำลังใจของพนักงาน

วิธีเริ่มต้นใช้งาน ISO 45001 ในองค์กรของคุณ

1. มองหาปัญหาและช่องว่างด้านความปลอดภัย : หากองค์กรของคุณเป็นองค์กรที่ยังไม่เคยตรวจสอบหรือรับการรับรองมาตรฐาน ISO45001 มาก่อน มองหาปัญหาและความเสี่ยงต่าง ๆ ภายในสถานที่ทำงานจะช่วยให้คุณสามารถวางแผนในการปรับปรุงง่ายขึ้น เช่น อุปกรณ์ที่เสื่อมสภาพ เครื่องจักรที่สึกหรอ หรืออาจจะลองถามความเห็นของบุคลากร

2. พัฒนานโยบายอาชีวอนามัยและความปลอดภัย : นโยบาย อาชีวอนามัยและความปลอดภัย เป็นคำแถลงเกี่ยวกับความมุ่งมั่นขององค์กรต่อ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ควรร่างเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์กรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้

3. สร้างกระบวนการระบบการจัดการ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย : คุณจะต้องสร้างกระบวนการสำหรับการระบุและประเมินความเสี่ยง อาชีวอนามัยและความปลอดภัย คุณสามารถสร้างกฎหรือข้อบังคับภายในองค์กรเพื่อควบคุมความปลอดภัยภายในสถานที่ทำงาน และติดตามและทบทวนประสิทธิผลของการควบคุมเหล่านี้

4. อย่าลืมพัฒนาการสื่อสารที่ดี : เมื่อคุณพัฒนาระบบการจัดการ อาชีวอนามัยและความปลอดภัยของคุณแล้ว คุณควรแจ้งรายละเอียดและข้อบังคับที่สำคัญให้กับพนักงานทุกคน อย่าลืมตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการใช้งานข้อกำหนดต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด

องค์ประกอบที่สำคัญใน ISO 45001 มีอะไรบ้าง

ภาพที่ 3 : องค์ประกอบที่สำคัญ

1. นโยบาย อาชีวอนามัยและความปลอดภัย : นโยบายจะต้องมีความชัดเจน ใช้ได้จริง และสร้างประโยชน์ให้แก่บุคลากรและองค์กร

2. การวางแผน: การวางแผนที่เกี่ยวข้องกับการระบุและประเมินความเสี่ยงด้าน อาชีวอนามัยและความปลอดภัย การกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายด้าน อาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมไปถึงการกำหนดทรัพยากรและกระบวนการที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์

3. การนำไปใช้จริงและการปฏิบัติงาน : การนำแผนที่วางไว้ไปใช้จริงนั้นไม่ใช่แค่ใช้ไปส่งๆ แต่การใช้ให้มีประสิทธิภาพจะต้องบังคับใช้อย่างเข้มงวด สมเหตุสมผล

4. การตรวจสอบและการดำเนินการแก้ไข : ติดตามผลและตรวจสอบว่าการใช้งานแผนนั้นมีข้อบกพร่องอะไรหรือไม่ หากพบปัญหาเกี่ยวกับด้าน อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ก็ให้ดำเนินการแก้ไข

5. บริบทขององค์กร : นอกจากแผนการที่ดี และบุคลากรที่ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดแล้ว ปัจจัยภายในองค์กรและภายนอกองค์กรก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ดังนั้นองค์กรจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเพิ่มประสิทธิภาพของการบังคับใช้แผนการด้าน อาชีวอนามัยและความปลอดภัย

6. ความเป็นผู้นำและความมุ่งมั่น : ผู้นำขององค์กรจะต้องมีคุณสมบัติความเป็นผู้นำที่ดี เพื่อให้ผู้ตามเชื่อฟังและปฏิบัติตามข้อกำหนดภายในองค์กรอย่างเคร่งครัด

7. การมีส่วนร่วมและการปรึกษาหารือ : ทุกภาคส่วนภายในองค์กรจะต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาให้องค์กรตรงตามข้อกำหนดของ ISO45001 

ประโยชน์ขององค์กรที่ได้รับ ISO 45001

ภาพที่ 4 : ประโยชน์ที่ได้รับ

1. สภาพแวดล้อมการทำงานเอื้อต่อบุคลากรเหมาะสมแก่การทำงาน 

2. สะท้อนภาพองค์กรที่ให้ความสำคัญเรื่องการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยของบุคลากร ลูกค้าจนถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  

3. เสริมสร้างความมั่นใจต่อบุคลากร ลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 

4. ช่วยป้องกันความเสี่ยง เช่น การได้รับบาดเจ็บ การเจ็บป่วยจากการทำงาน  

5. ช่วยให้เกิดการแข่งขันในตลาดและระดับสากลได้ดียิ่งขึ้น และยังเป็นแรงจูงใจที่ดีและยั่งยืนแก่พนักงานและพันธมิตร

การยื่นขอการรับรอง

เมื่อองค์กรได้จัดทำระบบ ISO 45001 จนครบถ้วนตามข้อกำหนดแล้ว องค์กรก็จะต้องพิจารณา ติดต่อให้บริษัทที่ให้บริการการตรวจประเมินเพื่อการรับรองระบบ (CERTIFICATION BODY) เข้ามาตรวจประเมินระบบการจัดการ ISO 45001 ขององค์กร หากผลการตรวจจากบริษัทการตรวจประเมิน องค์กรมีระบบการจัดการตามมาตรฐาน ISO 45001 ครบถ้วน นั้นหมายความว่าองค์กรมีระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยตามมาตรฐาน ISO 45001 บริษัทผู้ตรวจประเมิน ก็จะออกใบรับรองให้กับองค์กร โดยปกติจะมีอายุการรับรอง 3 ปี

    หลังจากทราบแนวทางและขั้นตอนการจัดวางระบบการบริหารจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ภาคปฏิบัติไปแล้วนั้น คราวนี้มาดูรายละเอียด ของข้อกำหนดตามมาตรฐาน ISO 45001 ในแต่ละข้อ ว่าองค์กรต้องดำเนินการอะไรบ้าง

ข้อที่ 1 ขอบเขต 

(SCOPE)

ภาพที่ 5 : ขอบเขตที่สอดคล้องกับกฎหมาย

ข้อกำหนดนี้บ่งบอกให้ทราบถึง ขอบเขตการใช้มาตรฐาน สำหรับการบริหารจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยฉบับนี้ ทุกองค์กรสามารถนำไปวางระบบได้ เพื่อให้องค์กรบรรลุผลลัพธ์การดำเนินธุรกิจ และพัฒนาปรับปรุงผลการดำเนินการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย และข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและบรรลุวัตถุประสงค์ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

ข้อที่ 2 เอกสารอ้างอิง 

(NORMATIVE REFERENCE)

ภาพที่ 6 : เอกสารอ้างอิง

มาตรฐาน ISO 45001 เป็นมาตรฐานที่องค์กรมาตรฐานระหว่างประเทศประกาศขึ้นมาเป็นฉบับแรก

ข้อที่ 3 ข้อกำหนด 

(TERMS AND DEFINITIONS)

ภาพที่ 7 : ข้อกำหนด

 ข้อกำหนดของมาตรฐานการจัดการ ISO45001 ฉบับแรกนี้กำหนดคำนิยามและคำศัพท์ไว้ทั้งหมด 37 คำ โดยหากในเนื้อหาของมาตรฐานคำใดที่มีความเข้าใจที่แตกต่างกัน ให้ใช้ความหมายของคำนิยามที่มาตรฐานกำหนดไว้เป็นเกณฑ์ ข้อนี้องค์กรควรเขียนคำนิยามไว้เป็นเอกสารอ้างอิงของการจัดทำระบบโดยระบุไว้ใน คู่มือการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

ข้อที่ 4 บริบทองค์องค์กร 

(CONTEXT OF THE ORGANIZATION)

ภาพที่ 8 : บริบทองค์กร

ข้อกำหนดของมาตรฐาน ISO45001 กำหนดให้องค์กรจะต้องดำเนินการ 4 เรื่องด้วยกันดังต่อไปนี้

1. สำรวจประเด็นภายในและภายนอกขององค์กร ที่จะมีผลกระทบต่อระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

2. สำรวจความต้องการ ความคาดหวัง ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

3. กำหนดขอบเขตการจัดทำระบบอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ขององค์กรหรือสถานประกอบการ

4. กำหนดแนวทางการจัดทำระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยขององค์กร

โดยในข้อกำหนดที่ 4 นี้ ให้จัดทำแบบฟอร์มการสำรวจประเด็น ภายใน, ภายนอก และความต้องการความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และเขียนเอกสารสารสนเทศเพื่อการกำหนดขอบเขตการจัดทำระบบให้ชัดเจน

ข้อที่ 5 ความเป็นผู้นำและการมีส่วนร่วม 

(LEADERSHIP AND WORKER PARTICIPATION)

ภาพที่ 9 : ความเป็นผู้นำและการมีส่วมร่วม

ในข้อกำหนดนี้ ให้องค์กรจัดทำและวางระบบที่สะท้อนประเด็นหลักๆที่มาตรฐานกำหนดไว้ 4 เรื่องดังนี้

1. กำหนดความมุ่งมั่นของผู้นำและผู้บริหารด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยโดยจะต้องกำหนดให้ชัดว่าจะเน้นอะไร จะทำอะไรและแสดงออกอย่างไรให้เป็นรูปธรรม

2. ผู้บริหารสูงสุดต้องกำหนดนโยบายอาชีวอนามัยและความปลอดภัยและสื่อสารให้ทั่วถึงทั้งองค์กร

3. ผู้บริหารทุกระดับจะต้องกำหนดโดยสร้างการบริหาร บทบาท อำนาจ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของผู้บริหารและพนักงานทุกระดับทุกตำแหน่ง

4. ต้องกำหนดวิธีการขั้นตอนการเข้ามามีส่วนร่วมในด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของพนักงาน

ข้อที่ 6 การวางแผน 

(PLANNING)

ภาพที่ 10 : การวางแผน

ในข้อกำหนดนี้ ให้องค์กรวางแผนการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย 2 เรื่องหลักๆดังนี้

1. วางแผนดำเนินการจัดการความเสี่ยงและโอกาสด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ทั้งความเสี่ยงในองค์กร และความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการ

2. กำหนดวัตถุประสงค์เป้าหมายและแผนการดำเนินการปฏิบัติ โดยองค์กรต้องกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยให้ชัดเจน สอดคล้องกับ ความเสี่ยงและโอกาสขององค์กร รวมทั้งกำหนดแผนการดำเนินการ ทรัพยากรและผู้รับผิดชอบให้ชัดเจน

ข้อที่ 7 การสนับสนุน 

(SUPPORT)

ภาพที่ 11 : การสนับสนุน

ในข้อกำหนดนี้ องค์กรจะต้องจัดทำกิจกรรมที่สำคัญ รวมทั้งหมด 5 เรื่องดังนี้

1. กำหนดทรัพยากรที่จำเป็นในการจัดทำระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ให้เพียงพอ เหมาะสม พร้อมใช้งานใน เช่น งบประมาณ บุคลากร อุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น

2. กำหนดความรู้ความสามารถบุคลากรทุกระดับทุกตำแหน่ง เพื่อที่จะดำเนินการตามระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ที่กำหนดไว้

3. การสร้างจิตสำนึกด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยให้กับบุคลากรในองค์กร โดยวิธีการที่เหมาะสมกับกลุ่มต่างๆ

4. จัดทำระบบการสื่อสาร ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยภายในองค์กรและภายนอกองค์กรให้สะดวก ทั่วถึง และมีการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ

5. จัดทำเอกสาร สารสนเทศ ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องใช้ปฏิบัติตามระบบที่มีการออกแบบหรือวางระบบไว้ รวมทั้งต้องมีการควบคุมจัดการเอกสารสารสนเทศให้มีความทันสมัย

ข้อที่ 8 การปฏิบัติงาน

(OPERATION)

ภาพที่ 12 : การปฏิบัติงาน

ในข้อกำหนดข้อนี้ องค์กรจะต้อง ดำเนินการอยู่ 2 เรื่องหลักๆดังนี้

1. การวางแผนและการควบคุมการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่เหมาะสมของหน่วยงานต่างๆในองค์กร โดยให้ใช้ข้อมูลของความเสี่ยงและโอกาสด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยขององค์กรเป็นฐานข้อมูลในการพิจารณา โดยเน้นการกำจัดอันตราย, และการลดความเสี่ยง, การบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง, การจัดซื้อจัดจ้าง, การควบคุมผู้รับเหมาและการควบคุมผู้รับจ้างเหมาช่วง (OUTSOURCE)

2. การเตรียมความพร้อมการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน โดยในข้อนี้องค์กรต้องจัดทำมาตรการ การรับมือกับเหตุฉุกเฉินในรูปแบบต่างๆที่มีโอกาสเกิดขึ้นในองค์กร โดยเน้นทั้งมาตรการก่อนเกิดเหตุการณ์, ขณะเกิดเหตุการณ์และหลังเหตุการณ์สงบหรือยุติลง นอกจากนี้จะต้องมีการฝึกซ้อมแผนหรือมาตรการต่างๆ ให้เกิดทักษะและเกิดความชำนาญ

ข้อที่ 9 การประเมินสมรรถนะ 

(PERFORMANCE EVALUATION)

ภาพที่ 13 : การประเมินสมรรถนะ

ในข้อนี้ องค์กรจะต้องดำเนินการอยู่ 3 เรื่องหลักๆ ด้วยกันคือ

1. การติดตาม วัดผล การวิเคราะห์และการประเมินด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เพื่อทราบว่าสถานะต่างๆ อยู่ที่ระดับใดมีข้อจำกัด หรือปัญหาอุปสรรคอยู่ที่จุดใด การแก้ไขปัญหาจึงจะดำเนินการได้ทันท่วงทีและถูกต้องตรงประเด็น

2. การตรวจติดตามภายใน เพื่อให้รู้สถานะความครบถ้วนสมบูรณ์ของระบบการจัดการ ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยตามข้อกำหนดทุกข้อ เพื่อที่จะได้นำข้อบกพร่องของระบบไปสู่การแก้ไขต่อไป

3. การประชุมทบทวนการจัดการ โดยในข้อนี้ผู้บริหารสูงสุด และผู้บริหารทุกระดับจะต้อง ประชุมทบทวนผลการดำเนินงาน ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในทุกๆข้อที่ได้ดำเนินการ เพื่อให้ฝ่ายบริหารทราบถึงผลการดำเนินการ และความคืบหน้าต่างๆ โดยความถี่ของการประชุมขึ้นอยู่กับองค์กรเป็นผู้กำหนด รวมทั้งรูปแบบวิธีการ ประชุมด้วยเช่นกัน

ข้อที่ 10 การปรับปรุง 

(INPROVEMENT)

ภาพที่ 14 : การปรับปรุง

ในข้อกำหนดนี้ มาตรฐานเน้นให้องค์กรมีการพัฒนาปรับปรุง ระบบการบริหารจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย โดยเน้น 3 ด้านดังนี้

1. การดูผลลัพธ์ของระบบการบริหารจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยหากไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดก็จะต้องตัดสินใจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อนำไปสู่การพัฒนา/ปรับปรุง ให้ดีขึ้น

2. การจัดการกับสิ่งที่เป็นข้อบกพร่อง,ปัญหา และความไม่สอดคล้องต่างๆ เช่นอุบัติเหตุ/อุบัติการณ์ เป็นต้น เพื่อเป้าหมายหลักคือการไม่ให้เกิดปัญหานี้เกิดขึ้นซ้ำ

3. การพัฒนาระบบอย่างสม่ำเสมอ โดยเน้นให้เหมาะสมกับองค์กร

โดยทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นภาพรวมที่สำคัญๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในลำดับขั้นของการจัดทำระบบ รวมทั้งสรุปสาระสำคัญหลักๆ ที่มาตรฐานได้มีการกำหนดเอาไว้ หากต้องการที่จะจัดทำระบบตามมาตรฐาน ISO 45001 องค์กรต้องค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกในการนำมาจัดวางระบบที่สมบูรณ์ต่อไป

เช่นนั้นบุคลากรในองค์กรเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในการดำเนินกิจการเกี่ยวกับ ISO 45001 และมุ่งเป้าให้องค์กรมีอุบัติเหตุ “เป็นศูนย์” เพื่อให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ปลอดภัย รวมถึงจัดการสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสมกับอาชีวอนามัย ทั้งนี้ทาง JorPor Plus มีตัวช่วยดีๆ อย่างระบบตรวจสอบพฤติกรรมความปลอดภัย (BBS) จาก JorPor Plus เพื่อให้พนักงานมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและดี ทั้งภายในองค์กรและนอกองค์กร ทาง JorPor Plus พร้อมให้คำแนะนำและคำปรึกษาฟรี การันตีใครๆ ก็ใช้เป็น มีทดลองให้ใช้ฟรีแล้ว  กดคลิก ได้เลย

ให้คำปรึกษาฟรี!!!

คุณชัญญา เพชรมณีโชติ (แนน)
[email protected]
061-546961

Website: https://factorium.tech/jorporplus/
Facebook: https://www.facebook.com/JorPorPlus
Youtube: https://www.youtube.com/playlist?list=PL0b92T8M8rKX1jrpbfpBgozl6Dk3y-nu8