ข้อกำหนดการทำงาน “นั่งร้าน” โดยวิศวกร

นั่งร้าน  คือ โครงสร้างชั่วคราวที่ใช้ในงานก่อสร้าง และงานซ่อมแซม สำหรับให้ผู้ปฏิบัติงานขึ้นไปก่อสร้างหรือซ่อมแซม และวางวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือต่างๆ ในการทำงาน เมื่อทำงานจนเสร็จภารกิจนั้นแล้ว  นั่งร้านนั้นจะถูกรื้อถอน ตามกำหนดของแผนงานที่วางเอาไว้ ซึ่งถ้าหากผู้ปฏิบัติงาน มีการใช้งานอย่างไม่ถูกต้อง แน่นอนว่านั่งร้านอาจส่งผลเสีย หรืออุบัติเหตุจากการทำงานได้เช่นกัน

โดยที่กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับนั่งร้านและค้ำยัน พ.ศ. 2564 กำหนดให้ นายจ้างต้องจัดให้มีการคำนวณออกแบบและควบคุมการใช้นั่งร้านโดยวิศวกร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

ข้อ 2 ในประกาศนี้

จุดคราก” (yield point) หมายความว่า จุดที่หน่วยแรงดึงที่วัสดุเริ่มยืดโดยไม่ต้องเพิ่มแรงดึงขึ้นอีก

น้ำหนักบรรทุกใช้งาน” (working load) หมายความว่า ผลรวมของน้ำหนักบรรทุกทั้งหมด ที่กระทำต่อโครงสร้าง

น้ำหนักบรรทุกคงที่” (dead load) หมายความว่า น้ำหนักของนั่งร้านที่พิจารณาน้ำหนักรวม ของอุปกรณ์ทั้งหมดของนั่งร้านร่วมด้วย

น้ำหนักบรรทุกจร” (live load) หมายความว่า น้ำหนักบรรทุกที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง ขนาดและตำแหน่ง เช่น น้ำหนักบรรทุกของผู้ปฏิบัติงาน วัสดุ หรือรถเข็นซีเมนต์ 

หมวดที่ 1

ข้อกำหนดทั่วไป

ภาพที่ 1 : นายจ้างต้องจัดให้มีคู่มือนั่งร้าน

ข้อ 3 นั่งร้านที่มีความสูงตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไป หรือนั่งร้านเสาเรียงเดี่ยวสำหรับงานทาสี ที่มีความสูงเกิน 7.20 เมตร และไม่มีรายละเอียดคุณลักษณะและคู่มือการใช้งานที่ผู้ผลิตกำหนด นายจ้างต้องจัดให้มีการคำนวณออกแบบโดยวิศวกร ตามประกาศนี้ 

ภาพที่ 2 : นายจ้างต้องมีรายการข้อมูลการใช้งานนั่งร้าน

ข้อ 4 เมื่อนายจ้างนำนั่งร้านมาใช้สำหรับการทำงาน อย่างน้อยต้องมีรายการข้อมูลการใช้งาน ดังต่อไปนี้

(1) ข้อมูล และสถานที่หรือหน่วยงานที่นำไปใช้งาน

(2) วัตถุประสงค์ หรือลักษณะของการทำงาน

(3) ความสูงที่ต้องการใช้งานนั่งร้าน

(4) วันที่เริ่มและสิ้นสุดสำหรับใช้งานนั่งร้าน

(5) ชนิด หรือประเภทของนั่งร้าน

(6) ชนิดของวัสดุใช้สร้าง

(7) จำนวนผู้ปฏิบัติงานสูงสุด

(8) ขนาดและน้ำหนักของวัสดุอุปกรณ์ที่จะนำขึ้นไปใช้บนนั่งร้าน

(9) วัตถุประสงค์ของการนำไปใช้กับลักษณะงาน หรือการใช้งานที่เหมาะสมกับประเภทของนั่งร้าน

(10) ระบุโอกาสได้รับผลกระทบและข้อควรระวังเมื่อมีการใช้นั่งร้าน

ข้อ 5 นั่งร้านที่นายจ้างให้ลูกจ้างใช้สำหรับทำงานที่มีความสูงตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไป หรือ นั่งร้านเสาเรียงเดี่ยวสำหรับงานทาสีที่สูงเกิน 7.20 เมตร อย่างน้อยต้องมีรายละเอียดข้อมูล ประกอบการคำนวณและออกแบบ ดังต่อไปนี้

(1) ชนิด หรือประเภทของนั่งร้าน

(2) ข้อมูลของผู้สร้าง ผู้ผลิต หรือผู้คำนวณออกแบบ

(3) ชนิด และกำลังของวัสดุที่ใช้สร้างนั่งร้าน

(4) น้ำหนักบรรทุกใช้งาน ซึ่งอย่างน้อยต้องมีน้ำหนักบรรทุกคงที่และน้ำหนักบรรทุกจร

(5) น้ำหนักบรรทุกจากสภาพแวดล้อม (ถ้ามี) เช่น แรงลม แรงดันใต้ดิน กระแสน้ำ

(6) น้ำหนักบรรทุกใช้งานสูงสุดเพื่อการออกแบบ

(7) น้ำหนักบรรทุกสูงสุดสำหรับใช้งานจริง

(8) ความสามารถใช้สำหรับการทำงานสูงสุดของนั่งร้านที่ออกแบบ

ทั้งนี้ ต้องจัดทำแบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลน รวมถึงกำหนดทางขึ้น – ลง และเข้า – ออก ของผู้ปฏิบัติงาน ระบุวัสดุและอุปกรณ์สำหรับการยึดหรือติดโครงสร้างและส่วนประกอบ ของนั่งร้าน หรืออาจจัดทำลำดับขั้นตอนสำหรับการสร้าง ประกอบ ติดตั้ง ตรวจสอบ ใช้ เคลื่อนย้าย และการรื้อถอนนั่งร้านประเภทนั้น ๆ

ข้อ 6 นายจ้างที่มีการใช้นั่งร้านต้องดำเนินการจัดให้มีรายการข้อมูลการใช้ตามข้อ 4 รายละเอียดข้อมูลประกอบการออกแบบตามข้อ 5 โดยติดไว้บริเวณที่มีการใช้นั่งร้านอย่างน้อยต้องมีรายการข้อมูลการใช้งานและรายละเอียดข้อมูลประกอบการออกแบบตามแนบท้ายประกาศเพื่อเป็นหลักฐานให้พนักงานตรวจความปลอดภัยสามารถตรวจสอบได้

ภาพที่ 3 : นั่งร้านต้องมีป้ายบอกน้ำหนักบรรทุกการใช้งาน

ข้อ 7 นายจ้างต้องจัดให้มีป้ายน้ำหนักบรรทุกใช้งานสูงสุด และจำนวนผู้ปฏิบัติงานสูงสุดแต่ละชั้นของนั่งร้าน พร้อมติดหมายเลขแต่ละชั้นของนั่งร้านให้เห็นอย่างชัดเจน

ภาพที่ 4 : นายจ้างต้องมีมาตรการป้องกันผู้ไม่เกี่ยวข้อง เข้าใกล้นั่งร้าน

ข้อ 8 นายจ้างต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เข้าไปใกล้หรือใช้นั่งร้าน พร้อมทั้งจัดทำป้าย หรือสัญลักษณ์ให้เห็นอย่างชัดเจน เพื่อความปลอดภัย กรณีดังต่อไปนี้

(1) มีการทดสอบ หรือตรวจสอบนั่งร้าน

(2)  อนุญาตให้ใช้นั่งร้านสำหรับทำงานได้

ข้อ 9 นายจ้างต้องดำเนินการสร้าง ติดตั้ง หรือวางฐานนั่งร้านบนพื้นที่ที่มั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย

ภาพที่ 5 : นายจ้างต้องทำราวกันตก นั่งร้าน

ข้อ 10 กรณีนายจ้างสร้างนั่งร้านที่มีขอบพื้นนั่งร้านด้านในห่างจากแนวผนังของอาคารมากกว่า 45 เซนติเมตร ต้องจัดทำราวกันตก  หรือสิ่งกั้นอื่นในด้านที่ติดกับแนวผนังของอาคารให้มีความมั่นคงแข็งแรงเพื่อเกิดความปลอดภัยต่อลูกจ้างที่ปฏิบัติงาน ยกเว้นนั่งร้านเสาเรียงเดี่ยวสำหรับงานทาสี

ข้อ 11 กรณีนายจ้างสร้างนั่งร้านหรือช่องทางเดิน ให้นายจ้างปิดคลุมเหนือช่องที่กำหนดให้เป็นทางเดินด้วยแผงไม้ หรือวัสดุอื่นที่มีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอเพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายปัญหาสุขภาพอนามัย และความปลอดภัยของผู้ใช้ทางเดินนั้น

ภาพที่ 6 : นายจ้างต้องจัดให้มีผ้าใบคลุมบริเวณที่ปฏิบัติงาน

ข้อ 12 กรณีนายจ้างสร้างนั่งร้านหลายชั้น และมีการปฏิบัติงานบนนั่งร้านหลายชั้นพร้อมกันให้นายจ้างจัดให้มีผ้าใบหรือวัสดุอื่นที่คล้ายกันที่เหมาะสม เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้ที่ทำงานอยู่ชั้นล่างได้

ข้อ 13 กรณีนายจ้างสร้างนั่งร้านให้พิจารณาถึงแรงสั่นสะเทือน แรงลม และน้ำหนักของผ้าใบ แผ่นไม้ หรือสิ่งปิดกั้นอื่นที่อาจมีผลต่อความมั่นคงแข็งแรงของนั่งร้านด้วย

ข้อ 14 กรณีนายจ้างสร้างนั่งร้านแต่ละชั้นสูงเกิน 2 เมตร ต้องได้รับการออกแบบโดยวิศวกร

ข้อ 15 กรณีนายจ้างสร้างนั่งร้านใกล้หอลิฟต์ ต้องให้มีระยะห่างพอที่ตัวลิฟต์ไม่กระแทกนั่งร้านในขณะขึ้นลง

ข้อ 16 นายจ้างต้องมิให้มีการยึดโยงนั่งร้านกับหอลิฟต์ หรือยึดโยงกับโครงสร้างของเครื่องจักรที่ติดตั้ง เพื่อใช้ในการก่อสร้าง

ข้อ 17 กรณีนายจ้างสร้างนั่งร้านแบบห้อยแขวน ต้องจัดให้มีการใช้เชือก ลวดสลิง หรือวัสดุอื่นใดต้องเหมาะสมกับร่องรอก หรือประเภทของรอก ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามที่ผู้ผลิตหรือวิศวกรกำหนด

ข้อ 18 นายจ้างต้องติดตั้งนั่งร้านให้อยู่ในแนวระดับ และมีอุปกรณ์ หรือวิธีการอื่นใดสำหรับการตรวจเช็คระดับ

ข้อ 19 นายจ้างซึ่งให้ลูกจ้างทำงานบนนั่งร้าน หรือทำงานประกอบ ติดตั้ง ตรวจสอบทดสอบ และเคลื่อนย้ายนั่งร้าน ต้องจัดและควบคุมดูแลให้ลูกจ้างสวมใส่เข็มขัดนิรภัย และเชือกนิรภัยหรือสายช่วยชีวิตพร้อมอุปกรณ์ หรืออุปกรณ์อื่นใดที่เหมาะสมกับลักษณะงาน

ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในสถานที่ที่อันตรายจากการตกจากที่สูงและที่ลาดชันจากวัสดุกระเด็น ตกหล่น และพังทลาย และจากการตกลงไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ

หมวดที่ 2

การคำนวณออกแบบ

ภาพที่ 7 : นายจ้างต้องให้วิศวกรเป็นผู้คำนวณและออกแบบนั่งร้าน

ข้อ 20 กรณีนายจ้างจัดให้มีวิศวกรเป็นผู้คำนวณและออกแบบนั่งร้าน หรือนั่งร้านที่มาจากผู้ผลิต อย่างน้อยต้องมีกำลังของวัสดุเป็นไปตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(1) ไม้ที่ใช้สร้างนั่งร้านต้องไม่ผุ เปื่อย หรือชำรุดจนทำให้ขาดความแข็งแรงทนทาน มีหน่วยแรงดัดประลัย (ultimate bending stress) ไม่น้อยกว่า 300 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร และมีค่าความปลอดภัยไม่น้อยกว่า 4

(2) เหล็กที่ใช้สร้างนั่งร้านต้องมีจุดครากไม่น้อยกว่า 2,400 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร และมีค่าความปลอดภัยไม่น้อยกว่า 2

(3) เชือกหรือลวดสลิงต้องสามารถรับน้ำหนักปลอดภัยได้ไม่น้อยกว่าน้ำหนักบรรทุกใช้งานสูงสุดที่ผู้ผลิตกำหนดไว้

(4) ฐานหรือที่รองรับนั่งร้าน ต้องแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักบรรทุกใช้งานไม่น้อยกว่า 2 เท่า ของน้ำหนักบรรทุกใช้งาน

(5) นั่งร้านที่สร้างด้วยเหล็กต้องสามารถรับน้ำหนักบรรทุกใช้งานไม่น้อยกว่า 2 เท่าของน้ำหนักบรรทุกใช้งาน กรณีสร้างด้วยวัสดุอื่นที่ไม่ใช่เหล็กต้องมีเอกสารแสดงผลกำลังวัสดุประกอบด้วย

(6) นั่งร้านที่สร้างด้วยไม้ต้องสามารถรับน้ำหนักบรรทุกใช้งานไม่น้อยกว่า 4 เท่าของน้ำหนักบรรทุกใช้งาน กรณีสร้างด้วยไม้ไผ่ต้องมีเอกสารแสดงผลกำลังวัสดุจากสถาบันที่เชื่อถือได้ประกอบ

ภาพที่ 8 : การคำนวณน้ำหนักบรรทุกใช้งานที่กระทำบนโครงสร้างนั่งร้าน

ข้อ 21 กรณีมีการคำนวณน้ำหนักบรรทุกใช้งานซึ่งกระทำบนโครงสร้างนั่งร้าน อย่างน้อยต้องสามารถรับน้ำหนักซึ่งเป็นผลรวมของน้ำหนักบรรทุก ดังต่อไปนี้

(1) น้ำหนักบรรทุกในแนวดิ่ง ดังนี้

(ก) น้ำหนักบรรทุกคงที่

(ข) น้ำหนักบรรทุกจรของผู้ปฏิบัติงานและวัสดุบนแผ่นพื้นนั่งร้านสำหรับการทำงานจริง แต่ต้องไม่น้อยกว่า 150 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

(2) น้ำหนักบรรทุกจากสภาพแวดล้อม เช่น แรงสั่นสะเทือน แรงลม แรงดันดิน แรงดันของกระแสน้ำ น้ำหนักผ้าใบ แผ่นไม้ หรือสิ่งปิดกั้นอื่นที่อาจมีผลต่อความมั่นคงแข็งแรงของนั่งร้านด้วย เป็นต้น

ข้อ 22 กรณีที่นายจ้างสร้างนั่งร้าน วัสดุที่ใช้สร้างต้องไม่มีคุณลักษณะ ดังต่อไปนี้

(1) ชำรุด ผุ เปื่อย มีรอยแตกร้าว จนอาจทำให้ขาดความแข็งแรงและปลอดภัย

(2) วัสดุที่ใช้ทำโครงสร้างนั่งร้านต่างชนิดกัน

(3) ใช้ตะปูเหล็กหล่อยึดติดโครงสร้างนั่งร้านไม้

(4) เชือกหรือลวดสลิงสำหรับนั่งร้านแบบห้อยแขวน ต้องไม่มีลักษณะ ดังนี้

(ก) ผุ เปื่อย ถูกกัดกร่อน ชำรุด หรือเป็นสนิม

(ข) มีร่องรอยเนื่องจากถูกความร้อนหรือสารเคมีทำลาย

(ค) เส้นผ่านศูนย์กลางเล็กลงเกินร้อยละห้าของเส้นผ่านศูนย์กลางเดิม

(ง) กรณีลวดสลิงขมวด (kink) หรือแตกเกลียว (bird caging)

(จ) กรณีลวดสลิง เส้นลวดในหนึ่งช่วงเกลียว (lay) ขาดตั้งแต่สามเส้นขึ้นไปในเกลียว (strand) เดียวกัน หรือขาดตั้งแต่หกเส้นขึ้นไปในหลายเกลียว (strands) รวมกัน

ภาพที่ 9 : นายจ้างต้องจัดให้มีการออกแบบนั่งร้าน

ข้อ 23 กรณีนายจ้างให้ลูกจ้างใช้นั่งร้านสำหรับการทำงาน ต้องจัดให้มีการออกแบบนั่งร้านอย่างน้อยประกอบไปด้วยลักษณะ ดังต่อไปนี้

(1) พื้นนั่งร้านต้องกว้างไม่น้อยกว่า 35 เซนติเมตร และยึดติดให้มั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย

(2) กรณีต้องมีการใช้บันได บันไดภายในนั่งร้าน บันไดไต่ หรือที่มีทางขึ้น – ลงนั่งร้านต้องมีโครงสร้างที่แข็งแรง ทนทาน ไม่ชำรุดเสื่อมสภาพ มีสภาพที่ปลอดภัยต่อการใช้งาน ตามลักษณะ ดังนี้

(ก) กรณีบันไดภายในนั่งร้าน ขนาดของลูกนอนบันไดต้องกว้างไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร และระยะห่างของขั้นบันไดต้องเท่ากันโดยห่างกันไม่เกิน 30 เซนติเมตร

(ข) กรณีบันไดไต่ ต้องมีระยะห่างของขั้นบันไดเท่ากัน โดยห่างกันไม่เกิน 30 เซนติเมตร และติดตรึงกับนั่งร้านให้มีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย

(3) ราวกันตกมีความสูงอย่างน้อย 90 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 1.10 เมตร และอย่างน้อยต้องประกอบด้วยราวบน ราวกลาง หรือสิ่งอื่นใดที่มั่นคงแข็งแรงเหมาะสมกับนั่งร้านนั้น ๆ และสามารถป้องกันการตกของผู้ปฏิบัติงานได้

(4) ขอบกันวัสดุ หรือเครื่องมือและอุปกรณ์ตกหล่น ต้องมีความสูงไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร จากพื้นนั่งร้าน หรือสิ่งอื่นใดที่มั่นคงแข็งแรงเหมาะสมกับนั่งร้านนั้น ๆ และสามารถป้องกันการตกหล่น

(5) กรณีสร้างนั่งร้านสูงตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไป ต้องออกแบบและสร้างค้ำยันด้วยวิธีการยึดตรึงกับอาคารหรือโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรง หรือวิธีการอื่นใดเพื่อป้องกันการโย้หรือเซ

ข้อ 24 กรณีนายจ้างติดตั้งนั่งร้านแบบห้อยแขวน ต้องไม่นำนั่งร้านไปเกาะหรือยึดติดกับกำแพงวัสดุก่อ ส่วนของอาคารที่มีโครงสร้างไม่มั่นคงแข็งแรง หรือโครงสร้างที่มิได้กำหนดหรือออกแบบไว้

ข้อ 25 กรณีนั่งร้านแบบห้อยแขวน ซึ่งมีด้านที่ชิดกับตัวอาคารหรือบริเวณที่ปฏิบัติงาน นายจ้างต้องดำเนินการยึดโยงกับตัวอาคารมิให้นั่งร้านกระแทกกับตัวอาคาร มีการติดตั้งวัสดุหรืออุปกรณ์ป้องกันการกระแทก หรือป้องกันการสัมผัสโดยตรงระหว่างอุปกรณ์ส่วนประกอบของนั่งร้านกับส่วนของอาคารหรือโครงสร้าง เช่น ยางนิ่ม ยางลม หรือสิ่งอื่นใดที่มีความเหมาะสม เป็นต้น

หมวดที่ 3

การควบคุมการใช้ นั่งร้าน

ข้อ 26 นายจ้างต้องจัดให้มีส่วนประกอบและอุปกรณ์รายการประกอบแบบที่มีอยู่ในรายละเอียดคุณลักษณะและคู่มือการใช้งานที่ผู้ผลิตกำหนด หรือรายละเอียดที่วิศวกรกำหนดทุกครั้งก่อนการติดตั้ง

ภาพที่ 10 : นายจ้างต้องจัดให้มีการควบคุมการใช้งาน นั่งร้าน โดยวิศวกร

ข้อ 27 นายจ้างต้องจัดให้มีการควบคุมการใช้งานนั่งร้านโดยวิศวกรอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เมื่อมีการใช้นั่งร้านในเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(1) กรณีที่มีการใช้นั่งร้านสำหรับการทำงานก่อสร้างที่มีความสูงตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไป

(2) กรณีที่มีการใช้นั่งร้านห้อยแขวน

การควบคุมตามวรรคแรก ในขั้นตอนก่อนการใช้งาน ระหว่างการใช้งาน และหลังการใช้งาน เพื่อให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน หรือให้ลูกจ้างสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย อย่างน้อยต้องควบคุมให้มีการใช้นั่งร้านเป็นไปตามลักษณะและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(1) โครงสร้างและส่วนประกอบของนั่งร้านมีเสถียรภาพ มั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย

(2) พื้นหรือฐาน สำหรับรองรับนั่งร้านต้องมีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยต่อการใช้งาน

(3) มีการใช้งานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ หรือตามลักษณะงาน

(4) ระบบป้องกันอันตรายที่ติดตั้งไว้ต้องมีสภาพแข็งแรงสมบูรณ์เหมาะสมกับปัจจัยเสี่ยงของการทำงาน

(5) มีป้ายหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้นั่งร้านติดไว้ให้เห็นชัดเจน

(6) ผู้ปฏิบัติงานบนนั่งร้านต้องปฏิบัติตามคู่มือความปลอดภัยในการทำงาน

เมื่อพบว่ามีการใช้งานนั่งร้านไม่เป็นไปตามรายละเอียดคุณลักษณะและคู่มือการใช้งานที่ผู้ผลิตหรือวิศวกรกำหนด หรือพบข้อบกพร่องของนั่งร้านที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการรับน้ำหนัก การใช้งานได้อย่างปลอดภัย หรืออาจก่อให้เกิดอันตรายต่อการทำงานของลูกจ้าง นายจ้างต้องมิให้ลูกจ้างทำงานจนกว่าจะได้รับการแก้ไขข้อบกพร่อง ซ่อมแซมให้ถูกต้อง หรืออยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างปลอดภัย

ข้อ 28 กรณีนั่งร้านได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุหรือสภาพแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบกับความมั่นคงแข็งแรงของนั่งร้านจนอาจเป็นเหตุให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ลูกจ้าง นายจ้างต้องจัดให้มี วิศวกรดำเนินการตรวจสอบ และทดสอบก่อนการใช้งาน

ปัจจุบันนั่งร้านมีการใช้งานเป็นอย่างมากในส่วนของงานก่อสร้าง ซ่อมแซม ในพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากพื้นดิน ซึ่งแน่นอนว่าผู้ปฏิบัติงานจะต้องมีการสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตลอดการทำงานตามที่กฎมายบังคับ เช่น หมวกนิรภัย รองเท้าเซฟตี้ เชือกช่วยชีวิต ฯลฯ และจะต้องตรวจสอบอุปกรณ์การทำงานและความปลอดภัยของนั่งร้านก่อนเริ่มปฏิบัติงานทุกครั้ง เนื่องจากการทำงานในส่วนนี้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นตลอดเวลา หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับวิศวกร จป หรือผู้ว่าจ้างของบริษัทนั้นๆ ด้วยว่า จะมีมาตรการความปลอดภัยยังไง ที่จะจัดการให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานได้อย่างปลอดภัย โดยทาง JorPor Plus มีตัวช่วยให้วิศวกร จป หรือผู้ว่าจ้าง ได้มีการทำงานที่ง่ายและปลอดภัยยิ่งขึ้น อย่างระบบการจัดการใบอนุญาตเข้าทำงาน (EWS) จาก JorPor Plus ที่ให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถอบรมความปลอดภัยก่อนเข้าทำงาน Online และยังสามารถประเมินความเสี่ยงในการทำงานทั้งก่อน ระหว่าง และหลังปฏิบัติงานได้อีกด้วย ทาง JorPor Plus พร้อมให้คำแนะนำและคำปรึกษาฟรี การันตีใครๆ ก็ใช้เป็น มีทดลองให้ใช้ฟรีแล้ว  กดคลิก ได้เลย

ให้คำปรึกษาฟรี!!!

คุณชัญญา เพชรมณีโชติ (แนน)
[email protected]
061-546961

Website: https://factorium.tech/jorporplus/
Facebook: https://www.facebook.com/JorPorPlus
Youtube: https://www.youtube.com/playlist?list=PL0b92T8M8rKX1jrpbfpBgozl6Dk3y-nu8