การเลือกใช้ “ถังดับเพลิง” อย่างถูกต้อง

ถังดับเพลิง เป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญในการรักษาความปลอดภัยในที่ทำงานหรือที่อยู่อาศัย เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ ถังดับเพลิงจะช่วยดับเพลิงได้อย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันถังดับเพลิงที่พบเห็นได้ทั่วไปนั้น แบ่งออกได้เป็นหลายประเภท ซึ่งแบ่งตามชนิดของสารดับเพลิง ขนาด และ สมรรถนะในการดับเพลิง หรือ Fire Rating นั่นเอง โดยบทความนี้จะมาอธิบายว่า ถังดับเพลิงมีกี่ชนิด มีคุณสมบัติอย่างไร และสามารถสังเกตได้อย่างไร ควรเลือกอย่างไรให้เหมาะสม และคุ้มค่ามากที่สุด  ถังดับเพลิงแต่ละประเภทจะต้องใช้ให้ถูกต้องกับประเภทของไฟถึงจะสามารถดับเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ประเภทของไฟ

ภาพที่ 1 : ประเภทของไฟ

ภาพที่ 2 : ประเภทของไฟ

ประเภท A คือ เพลิงที่ไหม้ที่เกิดจากเชื้อเพลิงของแข็ง เช่น ไม้ ผ้า กระดาษ ปอ นุ่น ยาง พลาสติก

ประเภท B คือ เพลิงที่ไหม้ในของเหลวติดไฟและก๊าซติดไฟ เช่น น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม จาระบี

ประเภท C คือ เพลิงที่ไหม้จากอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่มีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่ เช่น ไฟฟ้าลัดวงจร

ประเภท D คือ ประเภทวัตถุของแข็งหรือโลหะไวไฟ เช่น ไตตาเนียม แมกนีเซียมสำหรับแมกนีเซียมห้ามใช้น้ำดับเด็ดขาด ต้องใช้เกลือแกงหรือทราย

ประเภท K คือ เพลิงไหม้ที่เกิดจากน้ำมันที่ใช้ประกอบอาหาร ไขมันสัตว์

องค์ประกอบของไฟ

ภาพที่ 3 : องค์ประกอบของไฟ

ประกอบด้วยกัน 3 อย่าง คือ

1. เชื้อเพลิง มีด้วยกันอยู่ 3 สถานะ แต่เชื้อเพลิงที่มีสถานะเป็นของแข็งและของเหลวต้องได้รับความร้อนถึงจุด จุดหนึ่งซึ่งเรียกว่า จุดวาปไฟหรือจุดคายไอ ซึ่งหมายถึงเชื้อเพลิงอยู่ในสถานะเป็นไอหรือเป็นก๊าซนั้นเอง และพร้อมที่จุดติดเป็นไฟ

2. ออกซิเจน ที่อยู่ในบรรยากาศมีอยู่ 21 % แต่ออกซิเจนที่ใช้ในการจุดติดของไฟต้องมีอยู่ในบรรยากาศ ไม่ต่ำกว่า 16% จึงจะทำให้เกิดการจุดติดขึ้นได้ 

3. ความร้อน คือความร้อนที่ไปยกอุณหภูมิจากจุดวาปไฟให้ถึง จุดติดไฟ

ถังดับเพลิงแต่ละประเภท

ชนิดผงเคมีแห้ง (Dry Chemical)

ภาพที่ 4 : ถังดับเพลิง ชนิดผงเคมีแห้ง (Dry Chemical)

ชนิดผงเคมีแห้ง (Dry Chemical) สามารถดับไฟได้เกือบทุกประเภท A B C ยกเว้น CLASS K ถังดับเพลิงนี้เป็นถังดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างดี ราคาย่อมเยา หาซื้อง่าย ลักษณะของสารดับเพลิงที่เป็นผงเคมีแห้งนั้น จะคล้ายแป้งที่เราใช้ทำอาหาร ซึ่งถูกอัดด้วยก๊าซเฉื่อยที่บรรจุอยู่ในถังดับเพลิง เวลาที่เราฉีดออกมาตัวสารดับเพลิงจะคลุ้งกระจายทั่วบริเวณที่เราฉีดไป ซึ่งสามารถปกคลุมและดับไฟคลาส A ได้ดี แต่มีข้อเสียคือเมื่อฉีดออกมาจะฟุ้งกระจาย ทำความสะอาดยาก ใช้เวลาค่อนข้างนาน ไม่เหมาะกับสถานที่ที่มีอุปกรณ์ราคาแพง และต้องการความสะอาดสูง และเมื่อเราทำการฉีดแล้วจะฉีดจนหมดหรือไม่หมดถัง แรงดันจะตก ไม่สามารถใช้งานได้อีก ต้องส่งอัดบรรจุใหม่ทันที เหมาะกับสถานที่ภายนอกอาคาร หรือทางเดิน อาคารจอดรถ เป็นต้น

ชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)

ภาพที่ 5 : ถังดับเพลิง ชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)

ชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สามารถดับไฟประเภทB C ได้ ราคาไม่แพงมาก หาซื้อง่าย มีลักษณะปลายกระบอกฉีดจะใหญ่เป็นพิเศษ แต่จะถูกเน้นใช้ไปในการดับไฟคลาส C ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่เกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ เนื่องจากเมื่อฉีดออกมาแล้วตัวก๊าซ CO2 ที่ถูกเก็บไว้ในสถานะของเหลวในถังดับเพลิงนั้น จะถูกเปลี่ยนเป็นสภานะก๊าซเมื่อเจอกับอุณหภูมิภายนอก ส่งผลให้เมื่อทำการฉีดเสร็จจะไม่ทิ้งคราบสกปรก ไม่ทำลายอุปกรณ์ไฟฟ้าเสียหาย และไม่ทำให้สกปรกในบริเวณ ถังดับเพลิงชนิดนี้ จะไม่มีมาตรวัดแรงดัน หรือ Pressure Gauge เนื่องจากถังดับเพลิงชนิดนี้ต้องใช้แรงดันสูงมาก ทำให้มาตรวัดไม่สามารถรับได้ โดยจะต้องตรวจความพร้อมของถังดับเพลิงโดยการชั่งน้ำหนัก โดยน้ำหนักที่พร้อมใช้งานอยู่ที่ระหว่าง 13 – 16 กิโลกรัม สำหรับถังดับเพลิง CO2 ขนาด 10 ปอนด์ เหมาะสำหรับการใช้งานในห้องเครื่องจักร Line การผลิต อุตสาหกรรมอาหาร

ชนิดน้ำยาเหลวระเหย

ภาพที่ 6 : ถังดับเพลิง ชนิดน้ำยาเหลวระเหย

ชนิดน้ำยาเหลวระเหย ถังดับเพลิงชนิดสารเหลวระเหยนั้น ตัวถังจะมีสีเขียว สามารถดับไฟได้เกือบทุกประเภท A B C K ถังดับเพลิงชนิดนี้มีราคาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับถังดับเพลิงชนิดอื่น สารดับเพลิงเป็นสารสะอาด หรือ Clean Agent  น้ำยาชนิดนี้เมื่อถูกฉีดออกมาจะมีลักษณะเป็นไอ สามารถควบคุมเชื้อเพลิงได้ดี ทำให้เหมาะกับสถานที่ที่มีอุปกรณ์ไฟฟ้าเยอะ มูลค่าสูง และต้องการความสะอาดเป็นพิเศษ โดยถังดับเพลิงชนิดนี้มีข้อดีคล้ายถังดับเพลิง CO2 เลยก็ว่าได้ เมื่อฉีดออกมาแล้วจะระเหยไปในทันที ทำให้ไม่ทิ้งคราบไว้บนสิ่งของที่เราฉีดใส่ และสามารถใช้ในการดับเอกสารสำคัญได้ เหมาะสำหรับพื้นที่ที่เน้นความสะอาด เช่น อาคาร สำนักงาน โรงพยาบาล ห้องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ชนิดโฟม

ภาพที่ 7 : ถังดับเพลิง ชนิดโฟม

ชนิดโฟม สารเคมีภายในบรรจุโฟม เมื่อฉีดออกมาน้ำยาจะออกมาเป็นรูปแบบของฟองโฟมคลุมผิวเชื้อเพลิงที่ลุกไหม้ จึงสามารถดับไฟได้ประเภท A B สารดับเพลิงชนิดโฟมนั้น มีส่วนผสมของน้ำ จึงไม่สามารถนำไปดับไฟที่เกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้า หรือไฟคลาส C ได้ เนื่องจากจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ จากการเป็นสื่อนำกระแสไฟฟ้าของน้ำในสารดับเพลิงนั่นเอง รวมไปถึงน้ำนั้นมีฤทธิ์ในการกัดกร่อนตัวถังดับเพลิงได้ดี ดังนั้นถังดับเพลิงชนิดนี้จึงควรที่จะบรรจุในถังที่เป็นสแตนเลส เพื่ออายุการใช้งานที่เหมาะสม เหมาะสำหรับภาคอุตสาหกรรมดับเชื้อเพลิงประเภท ทินเนอร์ และสารระเหยติดไฟ

วิธีการใช้ “ถังดับเพลิง”

ภาพที่ 8 : วิธีการใช้ถังดับเพลิง

(1) เข้าไปทางเหนือลมโดยห่างจากฐานของไฟประมาณ 2 – 3 เมตร สามารถดับเพลิงได้ทั้งไฟชนิด A,B,C และ K ระดับความสามารถในการดับเพลิงสูง

(2) ดึงสลักหรือลวดที่รั้งวาล์วออก

(3) ยกหัวฉีดปากกลวยชี้ไปที่ฐานของไฟ ( ทำมุมประมาณ 45 องศา )

(4) บีบไกเพื่อเปิดวาล์วให้ก๊าซพุ่งออกมา

(5) ให้ฉีดไปตามทางยาว และกราดหัวฉีดไปช้า ๆ

(6) ดับให้สนิทจนแน่ใจแล้ว จึงฉีดต่อไปข้างหน้า

ในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้วางอยู่ในระดับต่างกัน ให้ฉีดจากข้างล่างไปหาข้างบน และถ้าน้ำมันรั่วไหลให้ฉีดจากปลายทางที่รั่วไหลไปยังจุดที่รั่วไหล และเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่มีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่ ต้องรีบตัดกระแสไฟฟ้าก่อน เพื่อป้องกันมิให้เกิดการลุกไหม้ขึ้นมาอีกได้

วิธีการตรวจสอบถังดับเพลิง

ภาพที่ 9 : วิธีการตรวจสอบถังดับเพลิง

(1) ดูที่เข็มในมาตรวัด (Pressure Gauge) ของถังดับเพลิง เครื่องดับเพลิงที่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ เข็มจะชี้ที่ช่องสีเขียว แต่ถ้าเข็มเอียงมาทางซ้ายแสดงว่าแรงดันไม่มี ต้องรีบนำไปเติมแรงดันทันที ซึ่งควรตรวจสอบเป็นประจำทุกเดือน

(2) ตรวจ สายฉีด หัวฉีด อย่าให้มีผงอุดตัน เป็นประจำทุกเดือน

(3) ถ้าไฟไหม้ หรือกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ให้ส่งไปตรวจสอบและบรรจุใหม่

(4) สภาพบรรจุของถังดับเพลิงต้องไม่บุบ หรือบวม และไม่ขึ้นสนิม

(5) อายุการใช้งาน ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง (ถังสีแดง) มีอายุประมาณ 5 ปี ชนิดฮาโลตรอนวัน (ถังสีเขียว) และชนิดก๊าซ CO2 มีอายุประมาณ 10 ปี

(6) ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง (ถังสีแดง) หากมีการใช้งานแล้ว ต้องนำไปเติมสารเคมีใหม่ทุกครั้ง

วิธีการตรวจสอบ ถังดับเพลิงชนิด CO2

ภาพที่ 10 : วิธีการตรวจสอบถังดับเพลิงชนิด CO2

ถังดับเพลิงชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Co2 ไม่มีมาตรวัดเเรงดัน ตรวจสอบโดยวิธีชั่งน้ำหนัก ถังดับเพลิง Co2 ขนาด 10 ปอนด์ ถังใหม่ จะมีน้ำหนักประมาณ 16 ก.ก. พร้อมใช้งานจะต้องหนักไม่น้อยกว่า 13 ก.ก.

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าถังดับเพลิงแต่ละชนิด สามารถดับเพลิงไหม้ได้คนละประเภท และถังดับเพลิงแต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป หากใช้ผิดประเภทก็ไม่ทำให้เกิดผลได้ ดังนั้นทาง JorPor Plus เห็นว่าเราควรที่จะศึกษาข้อมูลการใช้ถังดับเพลิงก่อนการใช้งาน ตรวจสอบสีของถังดับเพลิง รวมถึงประเภทการใช้งานที่ระบุไว้บนตัวถัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ลุกลาม เกินที่จะแก้ไขได้ ณ เวลานั้น 

เครื่องมือที่สำคัญนี้จะเป็นตัวช่วยในการเตรียมอุปกรณ์ป้องกันเหตุเพลิงไหม้ที่เหมาะสมกับงาน คือ ระบบจัดการใบอนุญาตเข้าทำงาน (EWS) จาก JorPor Plus เพราะจะไม่เพียงเพิ่มความปลอดภัยแต่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสภาพแวดล้อมและการทำงานนั้นๆ ด้วย มีให้ทดลองใช้แล้ว กดคลิก ที่ปุ่มด้านล่างได้เลยค่ะ

Website: https://factorium.tech/jorporplus/
Facebook: https://www.facebook.com/JorPorPlus
Youtube: https://www.youtube.com/playlist?list=PL0b92T8M8rKX1jrpbfpBgozl6Dk3y-nu8